นายโชติ chaiyawut

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Muayboran expected rope มวยโบราณ มวยคาดเชือก กับการคาดเชือกของนักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม

Muayboran expected rope มวยโบราณ มวยคาดเชือก กับการคาดเชือกของนักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม

เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญในการครองชีพ หากมือพิการย่อมทำให้เจ้าของมือหย่อนสมรรถภาพลงมากจนไม่อาจหาสิ่งประดิษฐ์ใดๆมาทดแทนได้ นักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม จึงใช้ด้ายดิบที่จับเป็น “ไจ” (รวมเส้นด้าย) ขนาดโตประมาณดินสอดำ ต่อกันให้ยาวเป็นเส้นยาวประมาณ ๒๐ – ๒๕ เมตร ม้วนแยกเป็น สองกลุ่ม สำหรับ มือซ้าย และ มือขวา ทั้งนี้ความยาวของด้ายดิบนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ประเพณีการคาดเชือกของแต่ละสายมวย ซึ่งมีเคล็ดลับ และ วัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยไม่มีข้อบังคับไว้ว่าต้องยาวแค่ไหนเพียงไร หรือจะไม่คาดหมัดเลย ก็ยอมให้ชกกันได้ เช่น นักมวยของเจ้าหลวงลำปาง เมื่อครั้งส่งเข้ามาชกแข่งขันเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า ณ สนามมวยสวนกุหลาบ ก็ไม่คาดเชือกที่หมัดเลย

นักมวยจากนครราชสีมา (นายทับ จำเกาะ , นายยัง หาญทะเล) เป็นมวยเตะ นักมวยจากเมืองนี้จึงคาดหมัดถึงข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะได้พอสมควร จึงใช้เชือกยาว เพราะนอกจากพันหมัดได้แล้ว ยังพันรอบแขนจรดข้อศอกกับทั้งยังขมวดไว้กันหลุดลุ่ยอีกด้วย

นักมวยจากลพบุรี เป็นที่เลื่องลือ ว่าเป็นมวยหมัดตรง และแม่นยำ ไม่นิยมการใช้มือป้องกันการเตะ ชอบชกต่อยแบบตรงๆ จึงต่อยแหวกการจดมวย(คุมมวย)ได้ดี การใช้ด้ายดิบพันหมัดจึงไม่สู้ยาวนัก

นักมวยจากไชยา ชุมพร หลังสวน มีการคาดหมัดทั้งแบบใหญ่และเล็ก แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ จะคาดเชือกไม่เลยข้อมือมากนัก ทั้งนี้เพราะมวยภาคนี้ต้องการใช้ศอกรับ (ปิด) ตีนและท่อนแขน รวมทั้งศอกกระทุ้งแทงลำตัวโดยเรียกลักษณะการกระทำด้วยรหัสที่รู้กันในหมู่มวยภาคใต้ว่า ”ปักลูกทอย และ ฝานลูกบวบ” ส่วนขนาดของด้ายจะยาวหรือสั้น ก็สุดแล้วแต่ประเภทบุคคล หากประสงค์จะใช้หมัดปิดป้องหน้าก็ใช้เชือกยาวซึ่งจะมีผลทำให้อืดอาดได้ ถ้าใช้ด้ายขนาดสั้นก็เคลื่อนไหวได้คล่องตัวกว่า

บทความนี้ข้าพเจ้าได้คัดลอกจากบทความของ ครูเขตร ศรียาภัย ซึ่งได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เมื่อหลายสิบปีก่อน มาขยายความเข้าใจของอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาไว้ครับผม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น