นายโชติ chaiyawut

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หมื่นมวยมีชื่อ ปล่อง จำนงทอง มวยคาดเชือก สายไชยา เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย

หมื่นมวยมีชื่อ ปล่อง จำนงทอง มวยคาดเชือก สายไชยา เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย

เมื่อคราสมเด็จพระปิยมหาราช ได้เสด็จประพาสปักษ์ใต้นั้น ได้ทรงทอดพระเนตรการชกมวยอันเป็นการละเล่นที่ทางบ้านเมืองจัดถวาย และโดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงสนพระทัยศึกษาเล่าเรียนวิชามวยไทย กระบี่กระบอง และเพลงดาบจากปรมาจารย์ หลวงพลโยธานุโยค ครูมวยหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชกมวยในงานพระราชทานเพลิงพระศพ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ณ ด้านใต้ของทุ่งพระเมรุ (ซึ่งต่อมาทางราชการได้มีประกาศให้เรียกว่าสนามหลวง)

นักมวยที่เจ้าเมือง นำเข้ามาเพื่อแข่งขันหน้าพระที่นั่งในครั้งนั้น ล้วนมีฝีมือดีเยี่ยม โดยฝ่ายข้างเมืองไชยา พระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์(ครูขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ได้นำนายปล่อง จำนงทอง ชาวบ้านหัววัว ตำบลเลม็ด เมืองไชยา มาประลองฝีมือ ได้คู่ชก กับนักมวยโคราช พวกเดียวกับนายแดง ไทยประเสริฐ (ต่อมาได้เป็นหมื่นชงัดเชิงชก) ซึ่งพระยาเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราชเป็นผู้นำมา

เมื่อมีสัญญาณกลองให้เริ่มชกกันได้ นักมวยโคราชดูเหมือนจะคึกคะนองอย่างเชื่อมั่นในฝีมือ นายปล่องนักมวยไชยาทรุดตัวลงนั่งยองๆแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นกิริยาการสักการะอย่างสูงสุด กระทำการกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวแล้วค่อยๆคลานถอยหลังออกมาราว ๕ ก้าว ยืดตัวขึ้นยืนตรงหันหน้าสู่ทิศบูรพา อันเป็นทิศสถิตของครู ชายหางตาชำเลืองดูคู่ปรับ เพื่อหาจุดจบ

นายปล่อง จำนงทอง ยกหมัดขวาขึ้นช้าๆ ใช้นิ้วขึ้นแตะจมูกเพื่อสอบปราณ อาราธนาคุณผ้าประเจียดรัดแขนของพระอาจารย์หลวงพ่อปลัดชุ่ม เจ้าอาวาสวัดอุดม และหลวงพ่อมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง ระหว่างที่นายปล่อง กำลังร่ายรำด้วยท่าชักช้าอยู่นั้น นักมวยโคราชถือว่าได้มีสัญญาณให้ชกต่อยกันได้แล้ว จึงก้าวพรวดๆ ตวัดด้วยตีนขวาตามถนัด แม้นายปล่องจะไหวตัวทันและผงะหงายหน้าออกห่างก็ไม่สำเร็จ ปลายตีนปฏิปักษ์ปะทะเข้าเหนือขมับ นายปล่อง มือตกตาลอย หงายหลังดิ้นเร่าๆ อยู่กับพื้นสนาม นักมวยโคราชกระโดดตัวลอยด้วยความดีใจ ถอยออกรำเยาะเย้ยอยู่ห่างๆ ประชาชนบางคนตะโกนเชิงคัดค้าน แต่บางคนเห็นสมควรเพราะกรรมการได้ลั่นกลองสัญญาณให้คู่ต่อสู้ตีกันได้แล้ว มวยไชยา อยากเซ่อซ่าเองต่างหาก

นายปล่อง จำนงทอง ถูกประคองเข้าพุ่ม (ที่พักให้น้ำนักมวยสมัยก่อน) การต่อสู้ต้องชะงักลงชั่วคราวโดยให้นักมวยคู่อื่นชกต่อยกันแทนตามประเพณี นายปล่อง ได้รับการปัดเป่านวดเฟ้นจนรู้สึกตัวและลืมตา คุณพ่อของผู้เขียนซึ่งมีสีหน้าทุกข์ร้อนตลอดเวลา เข้ามากระซิบถามนายปล่อง จำนงทอง ว่าจะยอมแพ้หรือสู้เขาต่อไป นายปล่องตอบทันควันว่า “จะขอสู้จนตายคาตีน” (ฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗)

คุณพ่อยิ้มออก เมื่อได้ยินคำนายปล่อง เอื้อมมือลูบก้านคอลูกศิษย์ตัวโปรดชี้จุดมรณะพลางปลอบใจที่ไม่เสียแรงเกิดใกล้แดนน้ำเค็ม พร้อมกระซิบข้างหูให้ “จับหัก” อันเป็นกระบวนแม้ไม้กลในสาขาวิชามวยไทย

เมื่อเริ่มต้นการชกนายปล่อง จ้องเขม็งไปยังร่างคู่ปรับอย่างไม่กระพริบตา ยกหมัดครู ตามแบบฉบับการไหว้ครูอย่างย่อของมวยปักษ์ใต้ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เสียทีซ้ำสอง บรรจงย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์ เริ่มการต่อสู้แบบ “ยอมตายคาตีน” ย่อตัวลงต่ำ สั่นหัวดิกๆ ทำทีตุปัดตุเป๋ คล้ายกับคนที่เพิ่งส่างเมา

นักมวยโคราชมองเขม้นดูอาการนักมวยไชยาที่ยังฮึดสู้ มั่นใจและแปลกใจระคนกัน นายปล่อง ยอบตัวต่ำลงๆ งอศอกพันหมัดซ้ายขวาสลับป้องกันด้านหน้าตลอดถึงชายโครง ค่อยๆ กระดิบๆ ด้วยปลายนิ้วตีนเข้าหาปฏิปักษ์ในแดนอันตราย ก่อความสนเท่ห์ลังเลใจให้แก่นักมวยโคราช ซึ่งรอจังหวะพิฆาตคู่ปรับด้วยไม้สำคัญของชาวที่ราบสูง

เอาซี! เตะ! เตะ! เป็นเสียงตะโกนติดต่อจากรอบสนาม

ตีนที่เขย่งขยับสับเปลี่ยน พร้อมที่จะฟาดเปรี้ยงทุกขณะ จำต้องรอจังหวะเพื่อผลทีเดียวอยู่

นายปล่องเองก็ได้ยินเสียงเตือน อย่าย่อต่ำ! อย่าย่อต่ำ! เดี๋ยวตาย! แต่ไม่ยอมฟังเสียง เพราะได้ตั้งใจยอมตายคาตีน ยิ่งประชิดเข้าไป ตาจ้องจับบริเวณท้องน้อยตรงจุดหนึ่งในสามที่เรียกว่า “สุมนา” ตามตำราหมอนวด กล้ามเนื้อแขนขาของนายปล่องดิ้นยุบยิบ พร้อมที่จะปฏิบัติงานสำคัญทันทีทันใด

ปฏิปักษ์ชาวโคราชยิ่งสงสัยเชิงของคู่ต่อสู้ยิ่งขึ้น รัวแขนไขว้ป้องกันตีวงใน พร้อมที่จะดีดด้วยแข้งหากถูกจู่โจม
นายปล่องคงชันเข่าซ้าย เคลื่อนตนเข้าแดนอันตรายหรือระยะตีนส่วนขาขวาเหยียดยาวทอดไปข้างหลังทำนอง “เสือลากหาง” ก่อนตะครุบเหยื่อ
คู่ต่อสู้ยังไม่เตะทั้งๆที่น่าจะทำได้ ประชาชนคนดูโห่เท่าไรก็โห่ไป เมื่อยังไม่ได้ช่องเหมาะก็ยังไม่ทำ ซึ่งเป็นคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์

ขณะนี้หน้าของนายปล่อง อยู่ในระดับเข่าของปฏิปักษ์ และห่างจากตีนไม่ถึง ๒ ศอก กัดฟันตัดสินใจครั้งสุดท้าย พลาดท่าก็หาม นายปล่องรีบเอื้อมมือขวาปัดปลายขาซ้ายด้านนอกของคู่ต่อสู้

คนดูนิ่งเงียบด้วยตกตะลึงที่เห็นมวยไชยา กล้าเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น ทันทีทันใดนั้น ตีนขวามหาประลัยก็ผลุดจากแหล่งสมดังคำพังเพย “ ตีนดีโคราช “ ซึ่งยังความขยั้นครั่นครามไว้แก่นักมวยต่างถิ่นทั่วๆไป

ในพริบตาเดียวกันนั้นเอง นายปล่อง จำนงทอง รีบลากขาขวาเสือกพรวดไปข้างหน้าใต้หว่างขาปฏิปักษ์ งอศอกขวาไขว้แนบปลายคางจนหมัดขวาพาดปิดขมับเหนือหูซ้าย ทะลึ่งลุกพลิกเหลี่ยม กระชากขาขวาผู้เตะเข้ามาชิดตัวจนปฏิปักษ์เสียหลัก พร้อมกันนั้นก็กดหัวปฏิปักษ์ทิ่มลงกับพื้น แบบ “ หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน” ก้านคอด้านหลังของนักมวยโคราชสัมผัสพื้น โดยมีร่างกำยำนำด้วยศอกประกับเข่าของมวยไชยาทับลงไปบนหน้าอกและท้องน้อย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องก้องบริเวณโดยไม่ทราบว่าใครโห่ให้ฝ่ายไหน

ปรากฎว่านายปล่อง เป็นฝ่ายลุกขึ้นก่อนส่วนปฏิปักษ์ยังคงนอนหงายหลับตาพริ้ม จนพวกพี่เลี้ยงต้องช่วยกันหามเข้าพุ่ม(ที่พักให้น้ำ) พยายามนวดเฟ้นแก้ไขด้วยความห่วงใย แต่นักมวยฝ่ายถูก “จับหัก” นอนคอเอียง ไม่อาจลุกขึ้นชกแก้ตัว จนกระทั่งเวลาค่ำมวยเลิก

ด้วยชัยชนะอันเฉียบพลันเหนือคู่ต่อสู้ และมีพระราชปรารภในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดว่า “อ้ายนี่สำคัญ” นายปล่อง จำนงทอง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “หมื่นมวยมีชื่อ” พร้อมกับนักมวยเอกผู้พิชิตคนอื่นๆในโอกาสเดียวกันอีกสองท่านด้วย

ฝ่ายไชยาหรือมวยภาคใต้ในสมัยนั้น จึงได้นับถือกันว่า “การทุ่มทับจับหัก” เป็นขั้นอุดมศึกษาของวิชามวยไทย
จากมวยครั้งนี้ อำมาตย์เอก พระยาประวัติสุทธิกรณ์ (เจริญตุลยานนท์) หัวหน้ากองบัญชี กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มวยหน้าที่นั่งครั้งรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมวยไชยาถูกเตะชักแต่กลับเอาชนะมวยโคราชได้นั้น ทำให้เกิดความตื่นเต้นเหลือขนาด ถึงอ้าปากค้าง เพราะต่างฝ่ายต่างเปิดฉากใช้ไม้เด็ด ของครูอาจารย์ซึ่งยากนักจะได้เห็น
( เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย ลงใน นิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓๐๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น