หมื่นมวยมีชื่อ ปล่อง จำนงทอง มวยคาดเชือก สายไชยา เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย
เมื่อคราสมเด็จพระปิยมหาราช ได้เสด็จประพาสปักษ์ใต้นั้น ได้ทรงทอดพระเนตรการชกมวยอันเป็นการละเล่นที่ทางบ้านเมืองจัดถวาย และโดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงสนพระทัยศึกษาเล่าเรียนวิชามวยไทย กระบี่กระบอง และเพลงดาบจากปรมาจารย์ หลวงพลโยธานุโยค ครูมวยหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชกมวยในงานพระราชทานเพลิงพระศพ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ณ ด้านใต้ของทุ่งพระเมรุ (ซึ่งต่อมาทางราชการได้มีประกาศให้เรียกว่าสนามหลวง)
นักมวยที่เจ้าเมือง นำเข้ามาเพื่อแข่งขันหน้าพระที่นั่งในครั้งนั้น ล้วนมีฝีมือดีเยี่ยม โดยฝ่ายข้างเมืองไชยา พระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์(ครูขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ได้นำนายปล่อง จำนงทอง ชาวบ้านหัววัว ตำบลเลม็ด เมืองไชยา มาประลองฝีมือ ได้คู่ชก กับนักมวยโคราช พวกเดียวกับนายแดง ไทยประเสริฐ (ต่อมาได้เป็นหมื่นชงัดเชิงชก) ซึ่งพระยาเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราชเป็นผู้นำมา
เมื่อมีสัญญาณกลองให้เริ่มชกกันได้ นักมวยโคราชดูเหมือนจะคึกคะนองอย่างเชื่อมั่นในฝีมือ นายปล่องนักมวยไชยาทรุดตัวลงนั่งยองๆแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นกิริยาการสักการะอย่างสูงสุด กระทำการกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวแล้วค่อยๆคลานถอยหลังออกมาราว ๕ ก้าว ยืดตัวขึ้นยืนตรงหันหน้าสู่ทิศบูรพา อันเป็นทิศสถิตของครู ชายหางตาชำเลืองดูคู่ปรับ เพื่อหาจุดจบ
นายปล่อง จำนงทอง ยกหมัดขวาขึ้นช้าๆ ใช้นิ้วขึ้นแตะจมูกเพื่อสอบปราณ อาราธนาคุณผ้าประเจียดรัดแขนของพระอาจารย์หลวงพ่อปลัดชุ่ม เจ้าอาวาสวัดอุดม และหลวงพ่อมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง ระหว่างที่นายปล่อง กำลังร่ายรำด้วยท่าชักช้าอยู่นั้น นักมวยโคราชถือว่าได้มีสัญญาณให้ชกต่อยกันได้แล้ว จึงก้าวพรวดๆ ตวัดด้วยตีนขวาตามถนัด แม้นายปล่องจะไหวตัวทันและผงะหงายหน้าออกห่างก็ไม่สำเร็จ ปลายตีนปฏิปักษ์ปะทะเข้าเหนือขมับ นายปล่อง มือตกตาลอย หงายหลังดิ้นเร่าๆ อยู่กับพื้นสนาม นักมวยโคราชกระโดดตัวลอยด้วยความดีใจ ถอยออกรำเยาะเย้ยอยู่ห่างๆ ประชาชนบางคนตะโกนเชิงคัดค้าน แต่บางคนเห็นสมควรเพราะกรรมการได้ลั่นกลองสัญญาณให้คู่ต่อสู้ตีกันได้แล้ว มวยไชยา อยากเซ่อซ่าเองต่างหาก
นายปล่อง จำนงทอง ถูกประคองเข้าพุ่ม (ที่พักให้น้ำนักมวยสมัยก่อน) การต่อสู้ต้องชะงักลงชั่วคราวโดยให้นักมวยคู่อื่นชกต่อยกันแทนตามประเพณี นายปล่อง ได้รับการปัดเป่านวดเฟ้นจนรู้สึกตัวและลืมตา คุณพ่อของผู้เขียนซึ่งมีสีหน้าทุกข์ร้อนตลอดเวลา เข้ามากระซิบถามนายปล่อง จำนงทอง ว่าจะยอมแพ้หรือสู้เขาต่อไป นายปล่องตอบทันควันว่า “จะขอสู้จนตายคาตีน” (ฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗)
คุณพ่อยิ้มออก เมื่อได้ยินคำนายปล่อง เอื้อมมือลูบก้านคอลูกศิษย์ตัวโปรดชี้จุดมรณะพลางปลอบใจที่ไม่เสียแรงเกิดใกล้แดนน้ำเค็ม พร้อมกระซิบข้างหูให้ “จับหัก” อันเป็นกระบวนแม้ไม้กลในสาขาวิชามวยไทย
เมื่อเริ่มต้นการชกนายปล่อง จ้องเขม็งไปยังร่างคู่ปรับอย่างไม่กระพริบตา ยกหมัดครู ตามแบบฉบับการไหว้ครูอย่างย่อของมวยปักษ์ใต้ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เสียทีซ้ำสอง บรรจงย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์ เริ่มการต่อสู้แบบ “ยอมตายคาตีน” ย่อตัวลงต่ำ สั่นหัวดิกๆ ทำทีตุปัดตุเป๋ คล้ายกับคนที่เพิ่งส่างเมา
นักมวยโคราชมองเขม้นดูอาการนักมวยไชยาที่ยังฮึดสู้ มั่นใจและแปลกใจระคนกัน นายปล่อง ยอบตัวต่ำลงๆ งอศอกพันหมัดซ้ายขวาสลับป้องกันด้านหน้าตลอดถึงชายโครง ค่อยๆ กระดิบๆ ด้วยปลายนิ้วตีนเข้าหาปฏิปักษ์ในแดนอันตราย ก่อความสนเท่ห์ลังเลใจให้แก่นักมวยโคราช ซึ่งรอจังหวะพิฆาตคู่ปรับด้วยไม้สำคัญของชาวที่ราบสูง
เอาซี! เตะ! เตะ! เป็นเสียงตะโกนติดต่อจากรอบสนาม
ตีนที่เขย่งขยับสับเปลี่ยน พร้อมที่จะฟาดเปรี้ยงทุกขณะ จำต้องรอจังหวะเพื่อผลทีเดียวอยู่
นายปล่องเองก็ได้ยินเสียงเตือน อย่าย่อต่ำ! อย่าย่อต่ำ! เดี๋ยวตาย! แต่ไม่ยอมฟังเสียง เพราะได้ตั้งใจยอมตายคาตีน ยิ่งประชิดเข้าไป ตาจ้องจับบริเวณท้องน้อยตรงจุดหนึ่งในสามที่เรียกว่า “สุมนา” ตามตำราหมอนวด กล้ามเนื้อแขนขาของนายปล่องดิ้นยุบยิบ พร้อมที่จะปฏิบัติงานสำคัญทันทีทันใด
ปฏิปักษ์ชาวโคราชยิ่งสงสัยเชิงของคู่ต่อสู้ยิ่งขึ้น รัวแขนไขว้ป้องกันตีวงใน พร้อมที่จะดีดด้วยแข้งหากถูกจู่โจม
นายปล่องคงชันเข่าซ้าย เคลื่อนตนเข้าแดนอันตรายหรือระยะตีนส่วนขาขวาเหยียดยาวทอดไปข้างหลังทำนอง “เสือลากหาง” ก่อนตะครุบเหยื่อ
คู่ต่อสู้ยังไม่เตะทั้งๆที่น่าจะทำได้ ประชาชนคนดูโห่เท่าไรก็โห่ไป เมื่อยังไม่ได้ช่องเหมาะก็ยังไม่ทำ ซึ่งเป็นคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์
ขณะนี้หน้าของนายปล่อง อยู่ในระดับเข่าของปฏิปักษ์ และห่างจากตีนไม่ถึง ๒ ศอก กัดฟันตัดสินใจครั้งสุดท้าย พลาดท่าก็หาม นายปล่องรีบเอื้อมมือขวาปัดปลายขาซ้ายด้านนอกของคู่ต่อสู้
คนดูนิ่งเงียบด้วยตกตะลึงที่เห็นมวยไชยา กล้าเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น ทันทีทันใดนั้น ตีนขวามหาประลัยก็ผลุดจากแหล่งสมดังคำพังเพย “ ตีนดีโคราช “ ซึ่งยังความขยั้นครั่นครามไว้แก่นักมวยต่างถิ่นทั่วๆไป
ในพริบตาเดียวกันนั้นเอง นายปล่อง จำนงทอง รีบลากขาขวาเสือกพรวดไปข้างหน้าใต้หว่างขาปฏิปักษ์ งอศอกขวาไขว้แนบปลายคางจนหมัดขวาพาดปิดขมับเหนือหูซ้าย ทะลึ่งลุกพลิกเหลี่ยม กระชากขาขวาผู้เตะเข้ามาชิดตัวจนปฏิปักษ์เสียหลัก พร้อมกันนั้นก็กดหัวปฏิปักษ์ทิ่มลงกับพื้น แบบ “ หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน” ก้านคอด้านหลังของนักมวยโคราชสัมผัสพื้น โดยมีร่างกำยำนำด้วยศอกประกับเข่าของมวยไชยาทับลงไปบนหน้าอกและท้องน้อย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องก้องบริเวณโดยไม่ทราบว่าใครโห่ให้ฝ่ายไหน
ปรากฎว่านายปล่อง เป็นฝ่ายลุกขึ้นก่อนส่วนปฏิปักษ์ยังคงนอนหงายหลับตาพริ้ม จนพวกพี่เลี้ยงต้องช่วยกันหามเข้าพุ่ม(ที่พักให้น้ำ) พยายามนวดเฟ้นแก้ไขด้วยความห่วงใย แต่นักมวยฝ่ายถูก “จับหัก” นอนคอเอียง ไม่อาจลุกขึ้นชกแก้ตัว จนกระทั่งเวลาค่ำมวยเลิก
ด้วยชัยชนะอันเฉียบพลันเหนือคู่ต่อสู้ และมีพระราชปรารภในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดว่า “อ้ายนี่สำคัญ” นายปล่อง จำนงทอง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “หมื่นมวยมีชื่อ” พร้อมกับนักมวยเอกผู้พิชิตคนอื่นๆในโอกาสเดียวกันอีกสองท่านด้วย
ฝ่ายไชยาหรือมวยภาคใต้ในสมัยนั้น จึงได้นับถือกันว่า “การทุ่มทับจับหัก” เป็นขั้นอุดมศึกษาของวิชามวยไทย
จากมวยครั้งนี้ อำมาตย์เอก พระยาประวัติสุทธิกรณ์ (เจริญตุลยานนท์) หัวหน้ากองบัญชี กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มวยหน้าที่นั่งครั้งรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมวยไชยาถูกเตะชักแต่กลับเอาชนะมวยโคราชได้นั้น ทำให้เกิดความตื่นเต้นเหลือขนาด ถึงอ้าปากค้าง เพราะต่างฝ่ายต่างเปิดฉากใช้ไม้เด็ด ของครูอาจารย์ซึ่งยากนักจะได้เห็น
( เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย ลงใน นิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓๐๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘)
เรื่องราวจากช่อง นายโชติ chaiyawut และวิชามวยไทยไชยา ดาบสองมือ ปัจจุบันอยู่ที่ตัวเมือง เชียงใหม่ Kru Cho Chanuphon Yodsamai Muay Boran muaychaiya and Krabi Krabong Class and Private class at Chaingmai Thailand Youtube.com Chanel = นายโชติ chaiyawut ,Facebook.com = เพจ นายโชติ เรื่องเล่า ,Website = naychot.blogspot.com For online class Contact chanuphon@hotmail.com and online class on www.udemy.com when search chanuphon for learning with 30 class
นายโชติ chaiyawut
วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553
วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553
Muayboran expected rope มวยโบราณ มวยคาดเชือก กับการคาดเชือกของนักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม
Muayboran expected rope มวยโบราณ มวยคาดเชือก กับการคาดเชือกของนักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม
เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญในการครองชีพ หากมือพิการย่อมทำให้เจ้าของมือหย่อนสมรรถภาพลงมากจนไม่อาจหาสิ่งประดิษฐ์ใดๆมาทดแทนได้ นักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม จึงใช้ด้ายดิบที่จับเป็น “ไจ” (รวมเส้นด้าย) ขนาดโตประมาณดินสอดำ ต่อกันให้ยาวเป็นเส้นยาวประมาณ ๒๐ – ๒๕ เมตร ม้วนแยกเป็น สองกลุ่ม สำหรับ มือซ้าย และ มือขวา ทั้งนี้ความยาวของด้ายดิบนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ประเพณีการคาดเชือกของแต่ละสายมวย ซึ่งมีเคล็ดลับ และ วัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยไม่มีข้อบังคับไว้ว่าต้องยาวแค่ไหนเพียงไร หรือจะไม่คาดหมัดเลย ก็ยอมให้ชกกันได้ เช่น นักมวยของเจ้าหลวงลำปาง เมื่อครั้งส่งเข้ามาชกแข่งขันเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า ณ สนามมวยสวนกุหลาบ ก็ไม่คาดเชือกที่หมัดเลย
นักมวยจากนครราชสีมา (นายทับ จำเกาะ , นายยัง หาญทะเล) เป็นมวยเตะ นักมวยจากเมืองนี้จึงคาดหมัดถึงข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะได้พอสมควร จึงใช้เชือกยาว เพราะนอกจากพันหมัดได้แล้ว ยังพันรอบแขนจรดข้อศอกกับทั้งยังขมวดไว้กันหลุดลุ่ยอีกด้วย
นักมวยจากลพบุรี เป็นที่เลื่องลือ ว่าเป็นมวยหมัดตรง และแม่นยำ ไม่นิยมการใช้มือป้องกันการเตะ ชอบชกต่อยแบบตรงๆ จึงต่อยแหวกการจดมวย(คุมมวย)ได้ดี การใช้ด้ายดิบพันหมัดจึงไม่สู้ยาวนัก
นักมวยจากไชยา ชุมพร หลังสวน มีการคาดหมัดทั้งแบบใหญ่และเล็ก แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ จะคาดเชือกไม่เลยข้อมือมากนัก ทั้งนี้เพราะมวยภาคนี้ต้องการใช้ศอกรับ (ปิด) ตีนและท่อนแขน รวมทั้งศอกกระทุ้งแทงลำตัวโดยเรียกลักษณะการกระทำด้วยรหัสที่รู้กันในหมู่มวยภาคใต้ว่า ”ปักลูกทอย และ ฝานลูกบวบ” ส่วนขนาดของด้ายจะยาวหรือสั้น ก็สุดแล้วแต่ประเภทบุคคล หากประสงค์จะใช้หมัดปิดป้องหน้าก็ใช้เชือกยาวซึ่งจะมีผลทำให้อืดอาดได้ ถ้าใช้ด้ายขนาดสั้นก็เคลื่อนไหวได้คล่องตัวกว่า
บทความนี้ข้าพเจ้าได้คัดลอกจากบทความของ ครูเขตร ศรียาภัย ซึ่งได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เมื่อหลายสิบปีก่อน มาขยายความเข้าใจของอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาไว้ครับผม
เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญในการครองชีพ หากมือพิการย่อมทำให้เจ้าของมือหย่อนสมรรถภาพลงมากจนไม่อาจหาสิ่งประดิษฐ์ใดๆมาทดแทนได้ นักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม จึงใช้ด้ายดิบที่จับเป็น “ไจ” (รวมเส้นด้าย) ขนาดโตประมาณดินสอดำ ต่อกันให้ยาวเป็นเส้นยาวประมาณ ๒๐ – ๒๕ เมตร ม้วนแยกเป็น สองกลุ่ม สำหรับ มือซ้าย และ มือขวา ทั้งนี้ความยาวของด้ายดิบนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ประเพณีการคาดเชือกของแต่ละสายมวย ซึ่งมีเคล็ดลับ และ วัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยไม่มีข้อบังคับไว้ว่าต้องยาวแค่ไหนเพียงไร หรือจะไม่คาดหมัดเลย ก็ยอมให้ชกกันได้ เช่น นักมวยของเจ้าหลวงลำปาง เมื่อครั้งส่งเข้ามาชกแข่งขันเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า ณ สนามมวยสวนกุหลาบ ก็ไม่คาดเชือกที่หมัดเลย
นักมวยจากนครราชสีมา (นายทับ จำเกาะ , นายยัง หาญทะเล) เป็นมวยเตะ นักมวยจากเมืองนี้จึงคาดหมัดถึงข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะได้พอสมควร จึงใช้เชือกยาว เพราะนอกจากพันหมัดได้แล้ว ยังพันรอบแขนจรดข้อศอกกับทั้งยังขมวดไว้กันหลุดลุ่ยอีกด้วย
นักมวยจากลพบุรี เป็นที่เลื่องลือ ว่าเป็นมวยหมัดตรง และแม่นยำ ไม่นิยมการใช้มือป้องกันการเตะ ชอบชกต่อยแบบตรงๆ จึงต่อยแหวกการจดมวย(คุมมวย)ได้ดี การใช้ด้ายดิบพันหมัดจึงไม่สู้ยาวนัก
นักมวยจากไชยา ชุมพร หลังสวน มีการคาดหมัดทั้งแบบใหญ่และเล็ก แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ จะคาดเชือกไม่เลยข้อมือมากนัก ทั้งนี้เพราะมวยภาคนี้ต้องการใช้ศอกรับ (ปิด) ตีนและท่อนแขน รวมทั้งศอกกระทุ้งแทงลำตัวโดยเรียกลักษณะการกระทำด้วยรหัสที่รู้กันในหมู่มวยภาคใต้ว่า ”ปักลูกทอย และ ฝานลูกบวบ” ส่วนขนาดของด้ายจะยาวหรือสั้น ก็สุดแล้วแต่ประเภทบุคคล หากประสงค์จะใช้หมัดปิดป้องหน้าก็ใช้เชือกยาวซึ่งจะมีผลทำให้อืดอาดได้ ถ้าใช้ด้ายขนาดสั้นก็เคลื่อนไหวได้คล่องตัวกว่า
บทความนี้ข้าพเจ้าได้คัดลอกจากบทความของ ครูเขตร ศรียาภัย ซึ่งได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เมื่อหลายสิบปีก่อน มาขยายความเข้าใจของอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาไว้ครับผม
วันศุกร์ที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2553
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)