นายโชติ chaiyawut

วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

การสอนมวยไชยา ที่ถูกต้อง มวยโบราณ บ้านครูแปรง

ขนบธรรมเนียมประเพณี มวยไทยไชยา บ้านครูแปรง

สิ่งนี้มีอยู่คู่กับคนไทยเรามาอย่างยาวนาน ทั้งการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อ่อนน้อมถ่อมตน ไปลามาไหว้ ผ่านผู้ใหญ่ให้ก้ม เดินคุกเข่าเมื่อท่านนั่ง สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแฝงเร้นเก็บเงื่อนซ่อนงำความแยบยลของวิชาการต่อสู้ไว้อย่างเพียบพร้อม ทั้งการจับ การล็อก ล้วนแล้วแต่มาจากการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งหมดที่เรียกว่ากายวุธนั้นเอง

ดังนั้นจะกล่าวได้ว่า ขนบและประเพณีล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหราบจิตใจที่แข็งกระด้างของคน ใช้สร้างคนให้อ่อนน้อม ลดทิฐิมานะอย่างมวยไชยาต้องมีการมอบตัว บางทีต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอเป็นศิษย์ด้วยซ้ำ พ่อแม่ต้องพามาฝากตัวเป็นศิษย์ ขั้นตอนต้องมีการมอบตัวแสดงตัวขอเรียน ไม่ใช่ขโมยเรียนให้แสดงตัวแสดงตนก่อน ถอดยศถอดศักดิ์ไว้แล้วเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์นั่นเอง จึงจะเริ่มสอนเริ่มเรียน พอเรียนเสร็จแล้วครูดูนิสัยใจคอแล้วเป็นคนดี พอฝึกได้ก็ถึงจะเริ่มขึ้นครูให้ ครูบาอาจารย์มั่นใจแล้ว เรามั่นใจแล้วสำหรับการฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์กัน ไว้ใจกันไม่หักหลังกัน ไม่ตระบัตรสัตย์ต่อกัน ในชีวิตนี้ขึ้นครูได้ครั้งเดียว เพราะว่านั้นคือการแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับวิชาที่เรียน แต่หากสาขาวิชาเรียนอื่นๆ ก็สามารถขึ้นครูสาขานั้นๆได้ ฉะนั้นเมื่อขึ้นครูกับท่านไหนไว้แล้ว เราต้องกระทำตัวเป็นศิษย์ที่ดี เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เมื่อท่านสอนจนหมดภูมิแล้วท่านก็จะได้ฝากไว้กับครูอาจารย์ท่านอื่นๆ ต่อไปให้ จึงได้มีการฝากฝังลูกศิษย์ลูกหาต่อเนื่องอาจารย์กันเรื่อยๆมา

หากว่าในระหว่างเรียนรู้นั้นลูกศิษย์คนไหนไม่ดี ท่านก็จะไม่ฝากไว้กับคนอื่นต่อไปซึ่งนั่นก็เป็นการคัดเลือกกรองคนอีกชั้นหนึ่งตามลำดับขั้นตอนการคัดสรรคนดีให้เรียนวิชาดีๆต่อไป เพราะในสมัยก่อนการเรียนสืบต่อกันนั้นเมื่อถึงเวลาต่อวิชากันกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ท่านก็จะถามไล่เรียงว่า มาจากไหน อาจารย์เป็นใคร เรียนถึงขั้นไหน เวลาเท่าไหร่ เพราะความรู้เหล่านี้ครูอาจารย์ท่านทราบท่านเรียนมา ย่อมจำแนกแยกเพศของศิษย์คนนั้นคนนี้ได้ คนนั้นหลบหนีมาหรือยังเรียนไม่จบ ไม่ครบกระบวนความก็ว่ากันไป ตามนั้น

ซึ่งข้อสำคัญอีกประการคือการครอบครู เพื่อมอบหมายหน้าที่การสอนให้ศิษย์ที่เหมาะสมทำการสืบต่อไป

ทั้งนี้การจะมอบวิชา มอบความเป็นครูหรือที่เรียกว่า ครอบครูให้นั้น คนคนนั้นต้องได้รับการยอมรับจากครูผู้สอนสั่งว่า คนคนนี้เป็นคนดี ยึดหลักตามขนบประเพณี มีศีลธรรม จึงจะสามารถสอนสั่งคนอื่นๆได้ ไม่เช่นนั้นแล้วคนที่เรียนที่เก่ง แต่ลืมขนบลืมประเพณีเมื่อทำการสอนก็จะสอนแต่วิชา แต่ไม่สามารถสอนสิ่งที่สำคัญนั้นคือ จิตใจที่รู้คุณคน รู้จักกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ได้ วิชาที่ได้ก็ไม่ครบสมบูรณ์อย่างถูกต้องวิธีได้ หมายความว่าต้องได้รับการอนุญาตก่อน จึงจะสามารถถ่ายทอด สอนคนอื่นได้ มิฉะนั้นก็จะทำให้คนเราฮึกเหิม คิดว่าเรานี่เก่ง เรานี่มีวิชาสามารถสอนคนอื่นๆได้ ทะนงผยองลืมตัว ไม่เคารพเชื่อฟังตามรุ่นตามศักดิ์ที่ครูได้มอบไว้ วันข้างหน้าจะมีปัญหาแตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน แข่งขันกันเอง นี้ต่างหากที่เรียกว่า แยกครูจริงกับครูตั้งได้ ครูที่ดี คือครูที่ถูกครอบครูจากอาจารย์ท่านให้แล้วเท่านั้น ส่วนครูที่ตั้งตัวเองว่า ฉันนี้ละครูคนอื่นเพราะสอนเป็นสอนได้นั้น มันผิดกัน คนสมัยนี้จึงละทิ้งประเพณีการครอบครูไปอย่างเสียมิได้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่งต่อทางจิตวิญญาณแห่งวิชาโบราณโดยแท้จริง

เพราะวิชาการนั้นเรียนทันกันได้ เก่งได้ แต่คนที่เก่งและสอนคนได้นั้นต้องประกอบด้วยหลักการหลายๆอย่าง ทั้งความหนักแน่นของจิตใจ ความรักเอ็นดูศิษย์ ความเก่งในวิชา การมองคนมองศิษย์ สิ่งต่างๆเหล่านี้นั้น มันแยกแร่แยกพลอยออกจากกันได้ คนเก่งไม่ใช่คนที่สอนคนได้เสมอไป แต่คนดีและคนเก่งจึงจะสานต่อสืบวิชาให้ไม่สูญหายได้ ความหมายแห่งนัย ครูนั้นสำคัญเพราะเมื่อก้าวข้ามมาเป็นครูจึงต้องพยายามเป็นแบบอย่างทั้งการเรียนและชีวิต สิ่งไหนที่เคยทำไม่ดี ครูต้องเลิกเพื่อเป็นตัวอย่างให้ศิษย์เอาเป็นแบบอย่าง ฉะนั้นครูคนจึงเป็นยาก ครูนั้นต้องนิ่ง ต้องเป็นเสมือนกระโถนใครจะว่า จะด่าอย่างไรต้องนิ่งต้องหนักแน่นไม่ไหวตามแรงลมปากเป่าของคนอื่นๆ

สิ่งต่างๆเหล่านี้กำลังบ่งบอกถึงคุณค่าของคำว่า ครู เพื่อที่จะสานต่อจิตวิญญาณที่เข้มแข็งต่อไปในภายภาคหน้าได้อย่างองอาจ การเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของมวยไทยไชยาจึงเสมือนแบบอย่างการสืบทอดสานต่อจิตวิญญาณของบรรพบุรุษที่เก็บวิชาสอนสั่งกันมาอย่างรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้การถ่ายทอดนั้นเป็นไปด้วยดี สานต่อกันอย่างที่ไม่จางหายตามกาลเวลา เพราะเราแข็งแกร่งทั้งวิชาและเข้มข้นด้วยจิตใจที่ใฝ่วัฒนธรรมประเพณีแบบอย่างไทย ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งชาติไทยไว้ได้อย่างดีที่สุด



บทความนี้คัดลอกจาก หนังสือ งานไหว้ครู มวยไชยา ปี ๒๕๕๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น