นายโชติ chaiyawut

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การฝึกหัด มวยคาดเชือก มวยโบราณ สายไชยา โดยครูแปรง


การฝึกหัด มวยโบราณ สายไชยา โดยครูแปรง

การฝึกการหัดหมัดมวยในสมัยก่อน จากที่ครูมวยมีเวลาฝึกหัดสอนกันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ๓ เดือน ๖ เดือน ทั้งนี้ก็เพราะ ๖ เดือนเดี๋ยวก็มีสงครามอีกแล้ว เดี๋ยวเมืองนั้นมา เดี๋ยวเมืองนี้มา ไปตีเมืองนั้นบ้าง จึงมีเวลาไม่มาก จนเสร็จศึกจึงมาเรียนเพิ่มเติมจากครู ฉะนั้นครูมวยสมัยก่อนจึงสำคัญเพราะครูเปรียบเป็นดังพระอาทิตย์คิดแตกยอดแตกสาย แตกลายลูกไม้ให้ศิษย์แต่ละคนแต่ละแบบแตกต่างตามนิสัยใจคอ ตามความสูงความต่ำ ใจสู้ ไม่สู้ เพื่อให้ศิษย์นั้นได้ใช้วิชาตามความถนัดและปกป้องกันภัยตัวเองได้ก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มเติมส่วนที่แยกย่อยออกไป

หากจะหมายแยกมวย ออกเป็นมวยเกี้ยวและมวยหลัก ที่ว่านั้น มวยเกี้ยวสำหรับคนรูปร่างเล็ก มวยหลักสำหรับคนรูปร่างสูงใหญ่ก็หามิได้ นั่นเป็นเพียงเคล็ดวิชาที่ไว้สำหรับสอนเชิงมวย หากถ้าเรียนจริงต้องเป็นทั้งเกี้ยวและหลักทั้งสองทางเพื่อเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์ ตามสมควรแห่งเหตุที่เกิดขึ้น มวยหลักสมัยโบราณนั้นจะหมายถึง มวยที่มีความมั่นใจแล้วว่า สามารถรับแข้งรับเตะได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว หลบหลีกได้ดี มีความมั่นใจจึงเดินเข้าหาคู่ต่อสู้ หากคู่ต่อสู้มีกำลังมาก เข้าแลกไม่ไหวเรามีกำลังน้อยก็ใช้เชิงมวยเดินวนเดินเลี่ยงเป็นมวยเกี้ยว มวยหลบ ฉะนั้น หากนักมวยตัวใหญ่ เจอนักมวยตัวเล็ก แต่แข็งแกร่งมวยใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นมวยเกี้ยว หาช่องทางเข้าทำได้เช่นกัน

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ครูท่านจะเลือกดู เลือกแก้ให้กับศิษย์ว่า ทางไหนดีทางไหนเหมาะแก่ผู้นั้น ฉะนั้นความสำคัญของการเรียนมวยนอกจากความสามารถของศิษย์ที่ตั้งใจร่ำเรียนแล้ว ครูอาจารย์ที่สอนศิษย์ต้องมีความเก่งรอบด้าน เพื่อสร้างศิษย์ให้เก่ง ต้องดึงความสามารถแห่งศิษย์ออกมาอย่างถูกต้อง ดีงามตามหลักตามการณ์ที่เหมาะสม ฉะนั้นความสำคัญของการฝึกมวย เบื้องต้นคือ การฝากตัว ฝากครู ยกครู ขึ้นครู นับถือครูบาอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จึงก่อเกิดขนบประเพณีและวิถีแห่งมวยไชยาขึ้น

นอกจากการเฝ้ามองดูศิษย์แล้วครูจะมองเห็นข้อดีข้อเด่นของสรีระรูปร่าง เห็นเหมือนอาวุธที่มีในตัวศิษย์ มีขาช่วงยาวช่วงสั้นเสมือนเป็นหอก ง้าว หรือทวน มีแขนประดุจดาบ หรือ มือดั่งมีดสั้น ศอกเป็นดั่งโล่ห์ ดั้ง เขน อวัยวุธเหล่านี้เองที่ครูจะสั่งสอนเล็งเห็นมอบให้ศิษย์คนใดเก่งด้านหนึ่งด้านนั้น ตามความสามารถสรีระสร้างแต่เดิมมาและเพิ่มเติมหลักวิชาใช้งานอย่างเหมาะสม

ด้วยเหตุแห่งวิชาที่เกิดในสงครามการออกอาวุธของไชยา จึงมิใช่เพียง หมัดเท้า เข่า ศอก อย่างที่คนทั่วไปรู้จักมวยไทย หากแต่ว่ายังคงมี ทุ่ม ทับ จับ หัก ล่อ หลอก หลบ หลีก เหยาะ ย่าง ยัก เยื้อง เหาะ เหิร กอด รัด ฟัด เหวี่ยง ล้ม ลุก คลุกคลาน ป้อง ปัด ปิด เปิด หากว่าด้วยเรื่องหมัด ก็จะมีทั้ง ชก สับ ปัก จิ้ม ทิ่ม แทง ควัก ข่วน ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาซึ่งการชนะเอาตัวรอดนั่นเอง จึงบอกได้ว่า มวยไชยาเหมือนมีอาวุธครบมือ จะเรียกใช้สิ่งใดก็ได้ตามประสงค์ หากแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ประกอบขึ้นด้วยหลักวิชาการ วิเคราะห์เป็นขบวนการ เป็นขั้นเป็นตอนเป็นระบบใช้ถูกหลักถูกวิธีไม่ได้มั่ว พลิกแพลงตามภูมิรู้ เมื่อใช้จึงมีความแม่นยำเกิดผลได้ทันที จึงเป็นการต่อสู้ที่หลากหลายมิติแห่งการต่อสู้ ทุกรูปแบบแห่งศาสตร์ดำรงชีวิต จึงจะเรียกได้ว่า มวยไชยาจักต้องมีกายและใจไปพร้อมๆกัน หากขาดซึ่งวิชา กายได้ ใจสู้ ก็มิอาจจะชนะได้ หากมีวิชา กายดี แต่ใจต่ำก็เป็นเรื่องเป็นราว เดือดร้อน ฉะนั้นการเรียนรู้มวยจึงต้องมาพร้อมทั้งกายและใจ อีกทั้งมีวิชาดีจึงยิ่งส่งเสริมกันขึ้นไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น