นายโชติ chaiyawut

วันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การฝึกหัด มวยคาดเชือก มวยโบราณ สายไชยา โดยครูแปรง


การฝึกหัด มวยโบราณ สายไชยา โดยครูแปรง

การฝึกการหัดหมัดมวยในสมัยก่อน จากที่ครูมวยมีเวลาฝึกหัดสอนกันในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ๓ เดือน ๖ เดือน ทั้งนี้ก็เพราะ ๖ เดือนเดี๋ยวก็มีสงครามอีกแล้ว เดี๋ยวเมืองนั้นมา เดี๋ยวเมืองนี้มา ไปตีเมืองนั้นบ้าง จึงมีเวลาไม่มาก จนเสร็จศึกจึงมาเรียนเพิ่มเติมจากครู ฉะนั้นครูมวยสมัยก่อนจึงสำคัญเพราะครูเปรียบเป็นดังพระอาทิตย์คิดแตกยอดแตกสาย แตกลายลูกไม้ให้ศิษย์แต่ละคนแต่ละแบบแตกต่างตามนิสัยใจคอ ตามความสูงความต่ำ ใจสู้ ไม่สู้ เพื่อให้ศิษย์นั้นได้ใช้วิชาตามความถนัดและปกป้องกันภัยตัวเองได้ก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มเติมส่วนที่แยกย่อยออกไป

หากจะหมายแยกมวย ออกเป็นมวยเกี้ยวและมวยหลัก ที่ว่านั้น มวยเกี้ยวสำหรับคนรูปร่างเล็ก มวยหลักสำหรับคนรูปร่างสูงใหญ่ก็หามิได้ นั่นเป็นเพียงเคล็ดวิชาที่ไว้สำหรับสอนเชิงมวย หากถ้าเรียนจริงต้องเป็นทั้งเกี้ยวและหลักทั้งสองทางเพื่อเลือกใช้ได้ตามสถานการณ์ ตามสมควรแห่งเหตุที่เกิดขึ้น มวยหลักสมัยโบราณนั้นจะหมายถึง มวยที่มีความมั่นใจแล้วว่า สามารถรับแข้งรับเตะได้อย่างคล่องแคล่ว ว่องไว หลบหลีกได้ดี มีความมั่นใจจึงเดินเข้าหาคู่ต่อสู้ หากคู่ต่อสู้มีกำลังมาก เข้าแลกไม่ไหวเรามีกำลังน้อยก็ใช้เชิงมวยเดินวนเดินเลี่ยงเป็นมวยเกี้ยว มวยหลบ ฉะนั้น หากนักมวยตัวใหญ่ เจอนักมวยตัวเล็ก แต่แข็งแกร่งมวยใหญ่ก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นมวยเกี้ยว หาช่องทางเข้าทำได้เช่นกัน

ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ครูท่านจะเลือกดู เลือกแก้ให้กับศิษย์ว่า ทางไหนดีทางไหนเหมาะแก่ผู้นั้น ฉะนั้นความสำคัญของการเรียนมวยนอกจากความสามารถของศิษย์ที่ตั้งใจร่ำเรียนแล้ว ครูอาจารย์ที่สอนศิษย์ต้องมีความเก่งรอบด้าน เพื่อสร้างศิษย์ให้เก่ง ต้องดึงความสามารถแห่งศิษย์ออกมาอย่างถูกต้อง ดีงามตามหลักตามการณ์ที่เหมาะสม ฉะนั้นความสำคัญของการฝึกมวย เบื้องต้นคือ การฝากตัว ฝากครู ยกครู ขึ้นครู นับถือครูบาอาจารย์เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง จึงก่อเกิดขนบประเพณีและวิถีแห่งมวยไชยาขึ้น

นอกจากการเฝ้ามองดูศิษย์แล้วครูจะมองเห็นข้อดีข้อเด่นของสรีระรูปร่าง เห็นเหมือนอาวุธที่มีในตัวศิษย์ มีขาช่วงยาวช่วงสั้นเสมือนเป็นหอก ง้าว หรือทวน มีแขนประดุจดาบ หรือ มือดั่งมีดสั้น ศอกเป็นดั่งโล่ห์ ดั้ง เขน อวัยวุธเหล่านี้เองที่ครูจะสั่งสอนเล็งเห็นมอบให้ศิษย์คนใดเก่งด้านหนึ่งด้านนั้น ตามความสามารถสรีระสร้างแต่เดิมมาและเพิ่มเติมหลักวิชาใช้งานอย่างเหมาะสม

ด้วยเหตุแห่งวิชาที่เกิดในสงครามการออกอาวุธของไชยา จึงมิใช่เพียง หมัดเท้า เข่า ศอก อย่างที่คนทั่วไปรู้จักมวยไทย หากแต่ว่ายังคงมี ทุ่ม ทับ จับ หัก ล่อ หลอก หลบ หลีก เหยาะ ย่าง ยัก เยื้อง เหาะ เหิร กอด รัด ฟัด เหวี่ยง ล้ม ลุก คลุกคลาน ป้อง ปัด ปิด เปิด หากว่าด้วยเรื่องหมัด ก็จะมีทั้ง ชก สับ ปัก จิ้ม ทิ่ม แทง ควัก ข่วน ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาซึ่งการชนะเอาตัวรอดนั่นเอง จึงบอกได้ว่า มวยไชยาเหมือนมีอาวุธครบมือ จะเรียกใช้สิ่งใดก็ได้ตามประสงค์ หากแต่ว่าสิ่งเหล่านี้ประกอบขึ้นด้วยหลักวิชาการ วิเคราะห์เป็นขบวนการ เป็นขั้นเป็นตอนเป็นระบบใช้ถูกหลักถูกวิธีไม่ได้มั่ว พลิกแพลงตามภูมิรู้ เมื่อใช้จึงมีความแม่นยำเกิดผลได้ทันที จึงเป็นการต่อสู้ที่หลากหลายมิติแห่งการต่อสู้ ทุกรูปแบบแห่งศาสตร์ดำรงชีวิต จึงจะเรียกได้ว่า มวยไชยาจักต้องมีกายและใจไปพร้อมๆกัน หากขาดซึ่งวิชา กายได้ ใจสู้ ก็มิอาจจะชนะได้ หากมีวิชา กายดี แต่ใจต่ำก็เป็นเรื่องเป็นราว เดือดร้อน ฉะนั้นการเรียนรู้มวยจึงต้องมาพร้อมทั้งกายและใจ อีกทั้งมีวิชาดีจึงยิ่งส่งเสริมกันขึ้นไป

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มวยโบราณ ไชยา ศาสตร์พิชัยยุทธ์ โดยครูแปรงMuayBoran Chaiya



จากประวัติมวยไชยาตามครูบาอาจารย์ที่เล่าสืบต่อกันมานั้น มีแหล่งกำเนิดเกิดขึ้นด้วย ท่านพ่อมา พระภิกษุสงฆ์ผู้ซึ่งเคยเป็น ทนายเลือกหรือตำรวจลับรักษาพระองค์เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน จากในวังหลวง ตามที่มาในรัชกาลที่ ๓ โดยกรมทนายเลือก ได้ละทิ้งทางโลกออกบวชแสวงหาสัจธรรมล่องลงมาจนถึงเมืองไชยา ณ วัดทุ่งจับช้าง และได้เผยแพร่ความรู้วิชาการทั้งหมัดมวย และองค์ความรู้ต่างๆ ให้แก่ลูกศิษย์ต่อๆกันมา เมื่อกล่าวถึงทนายเลือกผู้ที่ถูกขนานนามว่า เป็นคนเก่งคนกล้าทั้งวิชาความรู้ด้านศาสตร์และศิลป์ของการต่อสู้เพื่อรักษาผู้ที่สำคัญที่สุดนั้นย่อมหมายความว่า การได้อยู่ในกรมกองทนายเลือกได้ในสมัยก่อน จึงต้องเป็นคนเก่ง วิชาต่อสู้ต้องเก่งกาจ ด้านจิตใจที่เข้มแข็ง แกร่งทั้งกายทั้งใจ

ดังมีประวัติว่าด้วยกรมทนายเลือกมีมาแต่ยุคสมัยอยุธยาเรื่อยมาจวบจนรัตนโกสินทร์ ปรากฏมีหลักฐานจนถึงต้นรัชกาลที่ ๖ เนื่องด้วยบุคคลที่เป็นทนายเลือกอย่างปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) ครูมวยมือเยี่ยมจังหวัดพระนคร เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ผู้มีหลวงวิศาลดรุณกร เป็นศิษย์เอกของท่านผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ฝ่ายปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบวิยทยาลัยอีกด้วย จึงจะกล่าวได้ว่าผู้ที่ได้เอ่ยนามตามท้ายแล้วว่า ทนายเลือกจึงมีความสามารถทั้งการต่อสู้ไว้อย่างเต็มเปี่ยม และนี่เองจึงเป็นเสมอเหมือนว่าด้วยท่าร่างท่าครูที่คล้ายคลึงกันของท่านพ่อมาและจากท่าย่างสามขุมตามอย่าง ปรมาจารย์หลวงวิศาลดรุณกร จึงเชื่อได้ว่า สายมวยไชยาคือมวยเมืองหลวงมวยจากพระนครที่เป็นสิบต่อขยายสาย ณ เมืองไชยาจนกลับมารับใช้ในเมืองพระนครอีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

อีกความหนึ่ง อิงจากตำรามวยโบราณในรัชกาลที่ ๓ ที่มีปรากฏเป็นหลักฐานชั้นดีที่บ่งบอกว่า มวยไชยาเป็นมวยหลวง มวยในวัง อันมีท่าร่าย ท่าร่าง เหมือนในสมุดข่อยในรัชสมัยดังกล่าวนี้เช่นกัน จึงเป็นอีกหนึ่งหลักฐานการสร้างความเชื่อมั่นได้ว่า มวยไชยา คือ มวยหลวง มวยวัง ศักดิ์และศรีของมวยทนายเลือกอย่างเต็มภาคภูมิ

ส่วนความเลือนหายของท่าบางท่าอย่าง ทุ่ม ทับ จับ หัก นั้นสืบเนื่องจากอุบัติเหตุครั้งต่อยมวยหน้าพระที่นั่งจนมีนักมวยสิ้นชีพ ณ ที่นั้นเป็นเหตุความชอบให้มวยสากลได้ใช้เหตุแห่งความนี้ เปลี่ยนแปลงการชกมวยคาดเชือกหรือท่าทางมวยโบราณบางท่าเป็นท่าสงวนไม่ได้ใช้ออกอาวุธ กระทำต่อเพื่อนร่วมชาติ ร่วมแผ่นดินกันได้ อันจะเป็นอันตรายถึงชีวิต ใครที่ใช้หรือซ้อมต้องระวังอยู่ในความไม่ประมาทมีสติทุกครั้งที่ใช้ ทั้งนี้ก็เพื่อ

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ขนบธรรมเนียม มวยไทยไชยา ดาบไทย บ้านครูแปรง

ขนบธรรมเนียมประเพณี มวยไทยไชยา บ้านครูแปรง

สิ่งนี้มีอยู่คู่กับคนไทยเรามาอย่างยาวนาน ทั้งการเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่อ่อนน้อมถ่อมตน ไปลามาไหว้ ผ่านผู้ใหญ่ให้ก้ม เดินคุกเข่าเมื่อท่านนั่ง สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนแฝงเร้นเก็บเงื่อนซ่อนงำความแยบยลของวิชาการต่อสู้ไว้อย่างเพียบพร้อม ทั้งการจับ การล็อก ล้วนแล้วแต่มาจากการเคลื่อนไหวของร่างกายทั้งหมดที่เรียกว่ากายวุธนั้นเอง


ดังนั้นจะกล่าวได้ว่า ขนบและประเพณีล้วนแล้วแต่สร้างขึ้นมาเพื่อกำหราบจิตใจที่แข็งกระด้างของคน ใช้สร้างคนให้อ่อนน้อม ลดทิฐิมานะอย่างมวยไชยาต้องมีการมอบตัว บางทีต้องถือพานดอกไม้ธูปเทียนมาขอเป็นศิษย์ด้วยซ้ำ พ่อแม่ต้องพามาฝากตัวเป็นศิษย์ ขั้นตอนต้องมีการมอบตัวแสดงตัวขอเรียน ไม่ใช่ขโมยเรียนให้แสดงตัวแสดงตนก่อน ถอดยศถอดศักดิ์ไว้แล้วเข้ามามอบตัวเป็นศิษย์นั่นเอง จึงจะเริ่มสอนเริ่มเรียน พอเรียนเสร็จแล้วครูดูนิสัยใจคอแล้วเป็นคนดี พอฝึกได้ก็ถึงจะเริ่มขึ้นครูให้ ครูบาอาจารย์มั่นใจแล้ว เรามั่นใจแล้วสำหรับการฝากตัวเป็นศิษย์อาจารย์กัน ไว้ใจกันไม่หักหลังกัน ไม่ตระบัตรสัตย์ต่อกัน ในชีวิตนี้ขึ้นครูได้ครั้งเดียว เพราะว่านั้นคือการแสดงถึงความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับวิชาที่เรียน แต่หากสาขาวิชาเรียนอื่นๆ ก็สามารถขึ้นครูสาขานั้นๆได้ ฉะนั้นเมื่อขึ้นครูกับท่านไหนไว้แล้ว เราต้องกระทำตัวเป็นศิษย์ที่ดี เชื่อฟังครูบาอาจารย์ เมื่อท่านสอนจนหมดภูมิแล้วท่านก็จะได้ฝากไว้กับครูอาจารย์ท่านอื่นๆ ต่อไปให้ จึงได้มีการฝากฝังลูกศิษย์ลูกหาต่อเนื่องอาจารย์กันเรื่อยๆมา


หากว่าในระหว่างเรียนรู้นั้นลูกศิษย์คนไหนไม่ดี ท่านก็จะไม่ฝากไว้กับคนอื่นต่อไปซึ่งนั่นก็เป็นการคัดเลือกกรองคนอีกชั้นหนึ่งตามลำดับขั้นตอนการคัดสรรคนดีให้เรียนวิชาดีๆต่อไป เพราะในสมัยก่อนการเรียนสืบต่อกันนั้นเมื่อถึงเวลาต่อวิชากันกับอาจารย์ท่านอื่นๆ ท่านก็จะถามไล่เรียงว่า มาจากไหน อาจารย์เป็นใคร เรียนถึงขั้นไหน เวลาเท่าไหร่ เพราะความรู้เหล่านี้ครูอาจารย์ท่านทราบท่านเรียนมา ย่อมจำแนกแยกเพศของศิษย์คนนั้นคนนี้ได้ คนนั้นหลบหนีมาหรือยังเรียนไม่จบ ไม่ครบกระบวนความก็ว่ากันไป ตามนั้น

ซึ่งข้อสำคัญอีกประการคือการครอบครู เพื่อมอบหมายหน้าที่การสอนให้ศิษย์ที่เหมาะสมทำการสืบต่อไป

วันเสาร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การครอบครู มวยไชยา อาวุธไทย บ้านครูแปรง


ทั้งนี้การจะมอบวิชา มอบความเป็นครูหรือที่เรียกว่า ครอบครูให้นั้น คนคนนั้นต้องได้รับการยอมรับจากครูผู้สอนสั่งว่า คนคนนี้เป็นคนดี ยึดหลักตามขนบประเพณี มีศีลธรรม จึงจะสามารถสอนสั่งคนอื่นๆได้ ไม่เช่นนั้นแล้วคนที่เรียนที่เก่ง แต่ลืมขนบลืมประเพณีเมื่อทำการสอนก็จะสอนแต่วิชา แต่ไม่สามารถสอนสิ่งที่สำคัญนั้นคือ จิตใจที่รู้คุณคน รู้จักกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ได้ วิชาที่ได้ก็ไม่ครบสมบูรณ์อย่างถูกต้องวิธีได้ หมายความว่าต้องได้รับการอนุญาตก่อน จึงจะสามารถถ่ายทอด สอนคนอื่นได้ มิฉะนั้นก็จะทำให้คนเราฮึกเหิม คิดว่าเรานี่เก่ง เรานี่มีวิชาสามารถสอนคนอื่นๆได้ ทะนงผยองลืมตัว ไม่เคารพเชื่อฟังตามรุ่นตามศักดิ์ที่ครูได้มอบไว้ วันข้างหน้าจะมีปัญหาแตกแยก แบ่งพรรคแบ่งพวกกัน แข่งขันกันเอง นี้ต่างหากที่เรียกว่า แยกครูจริงกับครูตั้งได้ ครูที่ดี คือครูที่ถูกครอบครูจากอาจารย์ท่านให้แล้วเท่านั้น ส่วนครูที่ตั้งตัวเองว่า ฉันนี้ละครูคนอื่นเพราะสอนเป็นสอนได้นั้น มันผิดกัน คนสมัยนี้จึงละทิ้งประเพณีการครอบครูไปอย่างเสียมิได้ ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องส่งต่อทางจิตวิญญาณแห่งวิชาโบราณโดยแท้จริง
เพราะวิชาการนั้นเรียนทันกันได้ เก่งได้ แต่คนที่เก่งและสอนคนได้นั้นต้องประกอบด้วยหลักการหลายๆอย่าง ทั้งความหนักแน่นของจิตใจ ความรักเอ็นดูศิษย์ ความเก่งในวิชา การมองคนมองศิษย์ สิ่งต่างๆเหล่านี้นั้นมันแยกแร่แยกพลอยออกจากกันได้ คนเก่งไม่ใช่คนที่สอนคนได้เสมอไป แต่คนดีและคนเก่งจึงจะสานต่อสืบวิชาให้ไม่สูญหายได้ ความหมายแห่งนัย ครูนั้นสำคัญเพราะเมื่อก้าวข้ามมาเป็นครูจึงต้องพยายามเป็นแบบอย่างทั้งการเรียนและชีวิต สิ่งไหนที่เคยทำไม่ดี ครูต้องเลิกเพื่อเป็นตัวอย่างให้ศิษย์เอาเป็นแบบอย่าง ฉะนั้นครูคนจึงเป็นยาก ครูนั้นต้องนิ่ง ต้องเป็นเสมือนกระโถนใครจะว่า จะด่าอย่างไรต้องนิ่งต้องหนักแน่นไม่ไหวตามแรงลมปากเป่าของคนอื่นๆ
สิ่งต่างๆเหล่านี้กำลังบ่งบอกถึงคุณค่าของคำว่า ครู เพื่อที่จะสานต่อจิตวิญญาณที่เข้มแข็งต่อไปในภายภาคหน้าได้อย่างองอาจ การเรียนรู้ขนบธรรมเนียมประเพณีของมวยไทยไชยาจึงเสมือนแบบอย่างการสืบทอดสานต่อจิตวิญญาณของบรรพบุรุษที่เก็บวิชาสอนสั่งกันมาอย่างรุ่นต่อรุ่น เพื่อให้การถ่ายทอดนั้นเป็นไปด้วยดี สานต่อกันอย่างที่ไม่จางหายตามกาลเวลา เพราะเราแข็งแกร่งทั้งวิชาและเข้มข้นด้วยจิตใจที่ใฝ่วัฒนธรรมประเพณีแบบอย่างไทย ไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งศาสตร์และศิลป์แห่งชาติไทยไว้ได้อย่างดีที่สุด

บทความนี้คัดลอกจาก หนังสือ งานไหว้ครู มวยไชยา และอาวุธไทยพิชัยยุทธ์ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๕๔