นายโชติ chaiyawut

วันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มอบตัว ขึ้นครู ครอบครู รำไหว้ครู มวยไทย โดย ชนุภณ ยอดสมัย

พิธี มอบตัว ขึ้นครู ครอบครู รำไหว้ครู มวยไทย โดย ชนุภณ ยอดสมัย(ศิษย์ ครูแปรง มวยไชยา)

เมื่อผู้หนึ่งผู้ใดมีความประสงค์จะขอเรียนวิชามวยไทย จากครูอาจารย์ผู้รู้ ตามขนบธรรมเนียมไทยจะต้องมีพิธีกรรมที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยกัน หลายระดับคือ

๑ พิธีมอบตัว
เป็นกระบวนการเริ่มต้น เพื่อขอเข้าเป็นศิษย์ กับครูมวย เป็นระยะการทดสอบกำลังใจ และพิจารณาดูตัวผู้ขอเรียนว่าเหมาะสม แก่การสอนวิชามวยให้หรือไม่ โดยครูมวยอาจใช้กลวิธีในการพิจารณาเพื่อรับเป็นศิษย์ เช่นให้ฝึกหัดท่าฝึกชกมวย ให้ท่าฝึกน้อยแต่ ให้ทำเป็นจำนวนครั้งที่มาก และใช้เวลานาน ผู้ที่มีจิตใจมั่นคง ใฝ่รู้ใฝ่ศึกษา ก็จะตั้งมั่นพยายามทำตามคำสั่งได้อย่างไม่ย่อท้อ ส่วนผู้ที่ขาดความตั้งใจนั้นก็จะ เบื่อหน่ายการฝึก และย่อท้อไปเองจนเห็นได้ชัด

๒ พิธีขึ้นครู
ถือเป็นการตกลงรับบุคคลผู้มาขอเรียน เป็นศิษย์ของครูอย่างเต็มตัว เมื่อผ่านพิธีขึ้นครูนี้แล้ว ครูมวยจะสามารถสอนไม้กล และเชิงมวยขั้นสูง อันเป็นไม้ลับของสำนักให้แก่ศิษย์ได้ เพราะได้พิจารณาดูความตั้งใจของผู้ขอเรียนมาแล้ว และเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติพอที่จะอบรมสั่งสอนให้ได้

๓ พิธีครอบครู
เป็นกระบวนการในขั้นสุดท้าย ซึ่งครูมวย จะทำการมอบหมายอนุญาตให้ศิษย์ซึ่งมีความรู้ความสามารถ ในเชิงมวยดีแล้ว ออกไปเผยแพร่ศิลปะวิชามวยในสายมวยของตนได้ และผู้ที่ผ่านพิธีกรรมนี้ จะถือว่าเป็นบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ ผ่านการรับรองจากครูมวย ว่าให้เป็นครูมวยรุ่นต่อไปได้

เนื่องจากการเป็นครูมวยนั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ในเชิงมวย อย่างดีแล้ว จะต้องเป็นผู้มีคุณธรรม ศีลธรรมอันดีงาม ตลอดจน การรักษาขนบธรรมเนียม อันเป็นวัฒนธรรมของชาติ เพื่อไว้อบรมสั่งสอนศิษย์ของตนด้วย หากเพียงแต่มีฝีมือมวยชั้นดี แต่ไร้ซึ่งศีลธรรม ควาบชอบธรรม ก็ไม่สามารถครอบครูให้เป็น ครูมวยได้ เพราะคุณสมบัติไม่พอ จะทำการอบรบสั่งสอนศิษย์ให้เป็นเอกบุรุษได้ยาก

๔ การรำไหว้ครู
เมื่อเริ่มฝึกมวย นักมวยจะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ฝึกรำไหว้ครู เพราะยังขาดฝีมือในเชิงมวยอยู่มาก เมื่อผ่านการฝึกไปในระยะหนึ่งซึ่งครูมวยเห็นว่า มีกลมวย เชิงชก ได้ดีพอสมควร พอที่จะต่อตีได้โดยไม่อายใครเขา ว่าเรียนมวยมาจากครูผู้ใด ก็จะสอนการรำไหว้ครูตามแบบของสำนัก ของตนให้ เพราะแต่เดิม ท่าไหว้ครูมวย ของแต่ละค่ายแต่ละสำนัก จะแตกต่างกันชัดเจน เพียงแค่ขึ้นท่ารำ ก็เป็นที่รู้กันว่า นักมวยนั้นเป็นศิษย์ของครูมวยท่านใด การรำไหว้ครูจึงเปรียบเสมือน เป็นตัวแทนบอกกับสังคมว่า นักมวยนี้มาจากที่ใด

ทั้งการไหว้ครูมวยไทย นั้นยังครอบคลุมถึงการทำเพื่อถวายความเคารพแด่ครูมวยผู้ประสิทธิ์วิชา และเป็นการอบอุ่นร่างกายก่อน ประลองฝีมือ ทั้งท่วงท่า ท่ารำมวย ก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะสำนัก ซึ่งซ่อนกลมวย ได้ต่อกรกับปรปักษ์มากมาย รวมตลอดถึงการพิจารณาดู สถานที่ประลอง ว่ามีความเหมาะสมประการใด มีทิศทางแสงตะวันส่องเข้าดวงตาหรือไม่ พื้นสนามมีสภาพอย่างไร และพิจารณาดูตัวคู่ชก ว่ามีจุดด้อยจุดแข็งที่ใดบ้าง ทั้งเป็นการกล่อมจิตใจของนักมวยให้มุ่งมั่นพร้อมชิงชัย ( จันทร์ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ เมืองภูเก็ต)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น