การฝึกมวยโบราณ
เมื่อพูดถึงการฝึกมวยไทย หลายๆท่านคงนึกภาพถึงการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง มีการปะทะกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นฟกช้ำ หรือ บาดเจ็บ ถึงเลือดตกยางออก ถือเป็นความจริงที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลก แต่นั่นก็เป็นรูปแบบของการฝึกที่เข้มข้นเพื่อมุ่งให้ผลในการแข่งขัน เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพตามการแข่งขันในกติกาสมัยใหม่
หากแต่การฝึกมวยไทยในอดีตนั้น มิได้มุ่งเพื่อที่จะเอาชนะ โดยยอม แลกอาวุธจนร่างกายทรุดโทรม หรือแข่งกันทางด้านกำลังแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งไปเพื่อป้องกันตัวให้ดีเสียก่อนแล้วจึงหาจังหวะตอบโต้ตามแบบฉบับของครูผู้สอน อันว่านักมวยนั้น คือ ผู้ฝึกการชกต่อยตามแต่ครูจะสอน ในการฝึกมวยโบราณสายไชยาที่ผู้เขียนได้ศึกษาและทดลองด้วยตนเองนั้น การฝึกจะมีลักษณะ เป็นการฝึกจาก เบาไปหาหนัก จากช้า ไป หาเร็ว
โดยเมื่อแรก จะจัดโครงสร้างการยืนมวย เพื่อให้มีความมั่นคง และเตรียมพร้อมที่จะป้องกัน หรือโจมตี แล้วจึงฝึกการป้องกันอาวุธ(หมัด ) ในชุดป้องปัดปิดเปิด ก่อน เมื่อสามารถป้องกันตัวได้ดีแล้วจึงเข้าสู่การฝึกการออกอาวุธต่อไป อันมี หมัด ตรง หมัดเหวี่ยงสั้น หมัดเหวี่ยงยาว หมัดกระทุ้ง หมัดทิ่ม หมัดกระแทก หมัดโขก เตะฝานบวบ เข่าโทน เข่าลา เข่าลอย ศอกทัดมาลา จูบศอก มวยผม เป็นต้น
โดยผู้ฝึกจะต้องเริ่มฝึกจากท่าพื้นฐานเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียรูปมวย ต้องฝึกรับอาวุธจากเบาๆ ช้า ๆ ไปจนกว่าจะชำนาญ และเพิ่มความเร็ว ความแรง จนสามารถรับ หมัด รับแข้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสามารถฝึกขั้นพื้นฐานได้อย่างคล่องแคล่ว แล้วก็จะเข้าสู้ หลักสูตรขั้นสูง เช่น การปีนป่าย เหยียบยัน ทุ่ม ทับ จับ หัก ต่อไป
ซึ่งในการฝึกที่ผู้เขียนพบมานั้นไม่ปรากฎว่ามีผู้เรียนท่านใดต้องบาดเจ็บจากการฝึกเลย เพราะรูปแบบของการฝึกมิได้ ใช้กำลังเข้าปะทะตั้งแต่ต้น แต่ใช้ศิลปะ ในการป้องกัน ให้ผู้ฝึกได้รู้ถึงมุมของอาวุธที่เข้าโจมตี และวิธีป้องกันให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด หรือไม่เกิดความเสียหายเลย แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกที่ถูกต้องและสม่ำเสมอจึงจะสามารถรับและป้องกันอาวุธได้อย่างคล่องแคล่ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น