นายโชติ chaiyawut

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มวยไชยา กับ เมืองชุมพร มวยปักษ์ใต้

มวยไชยา กับ เมืองชุมพร

มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.๕ คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)ซึ่งเป็นบิดา ของปรมาจารย์มวยไทย เขตร ศรียาภัย และ ย่าชื่น ศรียาภัย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรียาภัย อันเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชุมพร

จน มีคำกล่าวผูกเป็นกลอนว่า ” หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ” จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นนักมวยในสมัยนั้น ได้รับการยกย่องมาก เพราะบ้านเมืองสนับสนุน และเมืองที่มีมวยฝีมือดีก็จะได้รับการยกย่องให้เป็น ” เมืองมวย ” มวยไชยา นั้นเป็นที่นิยมแพร่หลาย ในเขตภาคใต้ตั้งแต่ ชุมพร หลังสวน ลงมาโดยมีเมืองไชยาเป็นศูนย์กลาง และยังมีครูมวยอีกหลายท่านที่มีชื่อเสียงมากมาย
โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน ร.ศ. 115 ( พ.ศ. 2439) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบว่าตามที่ได้มีกระแสพระราชดำริให้จัดหัวเมืองปักษ์ใต้ตอนเหนือเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น คือเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองหลังสวน เมืองกาญจนดิษฐ์ และเมืองกำเนิดนพคุณ ( บางสะพาน) ทั้ง 5 หัวเมืองรวมเข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลชุมพร ดังนั้นเมืองในมณฑลชุมพรจึงคงมีเพียง 5 หัวเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพดำเนินการไป จึงทำให้เมืองชุมพร และ เมืองไชยา อยู่ใน มณฑลเดียวกัน มีหลายโอกาสที่ได้มีกิจกรรมระหว่างเมืองร่วมกัน

ฝ่ายข้างเมือง ไชยานั้น ประชาชนทั่วไปชอบการต่อสู้ จึงมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ รวมทั้งการต่อสู้มือเปล่า จึงมีคำว่า “มวยไชยา” เกิดขึ้นจนกระทั่งบัดนี้ ส่วนเมืองชุมพร ประชาชนชอบสนุกสนาน ชอบร้องรำทำเพลง เมื่อมีการประลองฝีมือทางอาวุธหรือการต่อสู้คนไชยาจะชนะเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีการประชันการขับร้อง คนชุมพรจะชนะเสียโดยมาก
ความมีชื่อเสียงของมวยไทยไชยานั้นเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป มีหลักฐานปรากฏอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เช่น มีเพลงนาบทหนึ่งของจังหวัดชุมพร กล่าวไว้ว่า “มวยดีไชยา เพลงนาชุมพร ขึ้นชื่อลือกระฉ่อน มานานหนักหนา” (ทวี เชื้อเอี่ยม. 2529 : 2716) หรือในเรื่อง “พลายจำเริญ” วรรณกรรมท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้กล่าวถึงมวยไทยไชยาไว้ว่า “คนหนึ่งชื่อคล้าย รูปร่างคมคาย บ้านอยู่สงขลา คนหนึ่งชื่อลิบ ขุนทิพย์นำมา มันอยู่ไชยา เข้ามาบังคม” และ “แขกตีกลองชนะ สองเข้าปะทะ สู้กันทั้งสอง ลิบมวยไทยไชยา ทีท่าไวว่อง ตีนเท้าศอกถอง คล้ายหยองทุกที” (กวี บัวทอง และคณะ. 2526 : 3) อันเป็นคำกล่าวตามอาวุธถนัดของนักมวยไชยา คือ ศอกไชยา

ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ตำบลหนองช้างตาย (ต.ท่าตะเภา ในปัจจุบัน) (อันเป็นตำบลเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าเกิด)อำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพร ในสมัยเด็กอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรง ทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตีจับ ฯลฯ ได้เป็นที่ ๑ ในชุดวิ่งเปรี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม มีชื่อทางวิ่งเปรี้ยวแต่นั้นมา
และได้ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่า โรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า ๓ เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องทนมือทนตีนอยู่ ๓ ปี อันเป็นปฐมเหตุแห่งความพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม ๑๒ ท่าน คือ
๑. พระยาวจีสัตยารักษ์ ( ขำ ศรียาภัย ) เจ้าเมืองไชยา (บิดาบังเกิดเกล้า)
๒. ครูกลัด ศรียาภัย ผู้บังคับการเรือกลไฟรัศมี (อาของท่าน)
๓. หมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง )
๔. ครูกลับ อินทรกลับ
๕. ครูสอง ครูมวยบ้านนากะตาม อำเภอท่าแซะ ชุมพร
๖. ครูอินทร์ สักเดช ครูมวยบ้านท่าตะเภา ชุมพร
๗. ครูดัด กาญจนากร ครูมวยบ้านหนองทองคำ
๘. ครูสุก เนตรประไพ ครูมวยบ้านแสงแดด ชุมพร
๙. ครูวัน ผลพฤกษา ครูมวยตำบลศาลเจ้าตาแป๊ะโป
๑๐. อาจารย์ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล
๑๑. ครู (กิมเส็ง)สุนทร ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยมีชื่อในพระนคร อาจารย์สอนมวยกรมพละศึกษา
๑๒. อาจารย์ หลวงวิศาลดรุณากร
๑๓.อาจารย์กิมเส็ง สุนทร ทวีสิทธิ์
โดย อาจารย์เขตร ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า และขันน้ำ ไปกราบขอเป็นศิษย์กับ อาจารย์กิมเส็ง ในวัน พฤหัสบดีอันเป็น " วันครู " ตามคติโบราณ ได้อยู่ร่ำเรียนรับใช้ ไปมาหาสู่กับ อาจารย์กิมเส็ง เป็นเวลา ๔๐ ปี จนครูท่านสิ้น จึงนับได้ว่าวิชามวยไชยาสายอาจารย์เขตร นั้นมีส่วนผสมวิชามวยของท่านอาจารย์กิมเส็ง อยู่อย่างแยบยลจนแยกกันไม่ออก

ย่าชื่น ศรียาภัย พี่สาวของครูเขตร ท่านชื่นชอบศิลปะการต่อสู้ มวยไชยาของบ้านเกิดเป็นอันมาก ครั้งเมื่อ นักมวยจากปักษ์ใต้จะเดินทางไปชกต่อยทางกรุงเทพฯ ย่าชื่น ก็ได้จัดให้นักมวยนั้นได้พักอยู่ที่บ้านไชยา แถว สีลม และเลี้ยงดูอย่างดี เป็นเหตุให้นักมวยไชยามีฝีมือเป็นที่สบอัธยาศัยของเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพราะเคยเสด็จปักษ์ใต้ จึงได้เรียกพวกนักมวยไชยาไปฝึกซ้อมที่วังเปรมประชากร ภายใต้ความควบคุมของ น.ท.พระชลัมพิสัยเสนี ร.น. (แฉล้ม สถีรศิลปิน)

ครูอินทร์ ศักดิ์เดช มวยเอกเมืองชุมพร ซึ่งไม่เคยแพ้มวยคนใดตั้งแต่เพชรบุรีลงไปถึงนครศรีธรรมราช โดยข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงมวยประวัติศาสตร์ของเมืองชุมพรคู่หนึ่ง .ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทางราชการได้จัดให้มีขึ้น ณ ริมถนนปรเมนทรมรรคา หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร (ที่เก่าตรงข้ามศาลหลักเมืองชุมพร) โดยมีกระดานดำเขียนรายการมวยอันเป็นธรรมเนียมของจังหวัดภาคใต้ ว่า “มวยอินทร์จะชกกับมวยพม่าซึ่งมาจากเกาะสอง แขวงเมืองมะริด

ข่าวได้แพร่สะพัดเหมือนไฟไหม้ทุ่งหญ้าคาในฤดูแล้ง ผู้คนจากตำบลใกล้เคียงรอบๆตัวเมือง เช่น คอกระออม ขุนกระทิง วัดขวาง วังไผ่ หนองคล้า บางลึก หาดพันไกร นากระตาม นาชะอัง ขุนแสน หูรอ นาทุ่ง ปากน้ำ บางคอย ท่ายาง บางหมาก แสงแดด บ้านเหนือ และตำบลอื่นๆต่างได้ชักชวนกันมาเพื่อดูมวยไทยกับพม่า ซึ่งส่อให้เห็นว่าชุมพรเป็นเมืองมวยแห่งหนึ่งของปักษ์ใต้ ผู้คนชาวชนบทจำนวนมาก ต่างพากันย่ำฝุ่นตลบไปหมด เพราะครั้งกระโน้นยังไม่มีรถหรือยวดยานพาหนะ นับเป็นทัศนภาพที่ประหลาด นานๆจะได้เห็น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมวยอินทร์เป็นมวยฝีมือเอก ในสมัยนั้น ไม่มีใครเคยเห็นมวยอินทร์แพ้ ไม่มีนักมวยคนใดในจังหวัดตั้งแต่เพชรบุรีลงไปจนถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชอาจหาญต่อสู้กับ นายอินทร์ ศักดิ์เดช

และอีกประการหนึ่งคือ คนไทยในจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกพม่าอยากดูฝีมือมวยพม่า
มวยพม่า แขนขากระชับ ล่ำสันได้สัดส่วนสมเป็นลูกผู้ชาย มุ่นมวยผมเอียงไว้ข้างคล้ายหมวกเบเร่ต์ ถักหมัดบางด้วยด้ายดิบขดก้นหอยเพิ่มหางเชือกตามประเพณีเกือบท่วมข้อศอก มีรอยสักชาด (แดง) ลายพร้อยทั้งสองไหล่ตลอดหน้าอก พื้นท้องชายโครงและด้านหลัง รอบท่อนขาปรากฏว่าตั้งแต่ใต้เข่าคู่ มีรอยสักดำลายมอม รูปคล้ายราชสีห์ของไทย ซึ่งพวกพม่าในสมัยโบราณเชื่อถือ กล่าวกันว่า พวกผู้หญิงพม่าจะไม่ยอมให้อาบน้ำเหนือน้ำถ้าไม่มิได้สักลายมอม มวยพม่าเคี้ยวหมากปากแดง ยิ้มอย่างใจเย็น ไม่แสดงอาการยำเกรงศักดิ์ศรีของมวยอินทร์แม้แต่น้อย

มวยอินทร์ ล่ำเป็นตอม่อ ผิวดำ เนื้อละเอียดเหมือนชาวมัทราสเพราะเป็นคนอาบน้ำว่านยาตามตำรากะบิลว่านแบบที่เรียกกันว่า “ชุบตัว” เพื่อความคงกระพัน นัยน์ตาเล็กเป็นปลาดุก รูปคางสั้นสี่เหลี่ยม มือค่อนข้างใหญ่ ถักหมัหนาปึก และเต็มไปด้วยขดก้นหอย สวมประเจียด (ผ้ายันต์สีขาว) ตามแบบฉบับนิยมของมวยไชยา ซึ่งเก่าคร่ำเพราะใช้การมาแล้วหลายขวบปี ที่โคนแขนซ้ายขวาคาดผ้ายันต์และแขวนพิรอด(หวายจารึกอักขระขอมลงรักปิดทอง เป็นเครื่องรางประเภทอยู่ยง) รอบบั้นเอวยังมีพิสมรชนิดโทน(ดอกเดียว) และชนิดเครื่อง (มีดอกนำและดอกบริวาร ตั้งแต่ ๒-๑๓ ดอก อย่างของหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง) รวม ๓-๔ สาย แป้งมนต์หรือกระแจะจันทน์ก็ประเอาไว้ขาวเต็มหน้า ดูๆ คล้ายกับคนป่าในทวีปแอฟริกากำลังจะออกรบ

เริ่มลงมือ
เมื่อเจ้าเมืองชุมพร พระสำเริงนฤปกรณ์ ได้ปราศรัยตามประเพณีคือพูดทำนองปรับความเข้าใจระหว่างนักมวยอันเป็นกติกา ครั้นแล้วเสร็จ นักมวยพม่าก็ยกมือขึ้นไหว้เจ้าเมือง ถอยห่างออกมา เริ่มร่ายรำ โดยเหยียดตัวสูง เนื้อเต้นยิบๆ กลองสองใบ ตีขัดจังหวะ ติ่งทั๋ง เร้าใจและอารมณ์อย่างระทึก มวยพม่าเหยียดตัวสูง แล้วลดกายลงต่ำเรียๆดิน วาดศอกผ่านชายโครงพลิกไปมา ดีดแข้งขาทำท่าแปลกน่าดูไม่น้อย

ส่วนมวยอินทร์ นั่งยองๆท่องคาถา ผินหน้าไปทางทิศบูรพาอันเป็นทิศครู แล้วกราบลา สามครั้ง ถอยออกมา ๓-๔ ก้าว ยืนประจันหน้าคู่ชก พิจารณาการร่ายรำของมวยพม่าอยู่ชั่วครู่ ทำปากขมุบขมิบ คนดูเงียบกริบได้ยินแต่เสียงกลอง ครั้นแล้วมวยอินทร์ก็เริ่มยกหมัดครู คือ ยกหมัดซ้ายขวาพร้อมกันขึ้นที่หน้าผาก ขยับสับท่า ก้าวสามขุมข้าๆ เข้าหาคู่ชกประมาณ หนึ่งนาที ไม่มีก้าวถอยหลัง ไม่มีการฉากออกข้าง ไม่มีการหลอกล่อ

มวยหม่อง ดูเหมือนจะแปลกใจ แต่ไม่แสดงอาการสะทกสะท้านต่อมวยไทย ขยับเข้าหา หดตีนขวาถีบทันที มวยอินทร์เตรียมตัวอยู่แล้ว เกร็งแขนรับแล้วปัดตาม ทำให้ตีนมวยพม่าพลาดเป้าหมายไปทางขวา
ชั่วพริบตาที่มวยพม่าเสียหลัก ฝุ่นจากพื้นสนามหญ้าซึ่งไม่สู้จะเขียวงามนักเพราะเป็นหน้าแล้ง ก็ฟุ้งขึ้นกลบคู่ต่อสู้
สองเสือต่างฟัดกันแทบไม่รู้ว่ามือตีนหมัดเข่าของใคร หมัดเท้าเข่าศอกระดมตอกซึ่งกันและกัน พึ่บพั่บ พึ่บพั่บ คล้ายค้างคาวแม่ไก่ตีช่อชมพู่
คนดูต่างโห่ร้อง ตามประเพณพื้นเมือง กรรมการซึ่งประกอบด้วยตำรวจ หกคน บางคนยืนกอดอกตัวเอียงไปมาตามลีลาความตื่นเต้น บางคนกำหวายสำหรับหวดตีนมวยที่ใช้ปากกัน หรือ ซ้ำคนล้ม เกร็งข้าเขี่ยดินโดยลืมตัว

การเข้าคลุกของมวยดีทั้งสองเป็นไปเพียงพักหนึ่งกระทั่งคู่ต่อสู้ต่างแยกออกจากกันเอง ปรากฏว่า มวยอินทร์ถอยห่างออกมายืนคุมเชิงท้องแขม่วๆ มวยพม่ามีเลือดไหลทะลักกลบใต้ตา ย่อตัวลงนั่งอย่างมึนงง แล้ว “เปิดมือ” คือโบกหลังมือให้ปฏิปักษ์ออกห่าง ซึ่งเป็นกริยามีความหมายรู้กันทั่วไปในสมัยก่อน ว่าขอหยุดพัก และเมื่อได้เข้าไปปรึกษาพี่เลี้ยงแล้ว กลับออกมาทั้งๆที่เลือดยังไหลไม่หยุด นักมวยพม่าก็เดินตรงเข้าไปหา เจ้าเมืองผู้เป็นประธาน บอกยอมแพ้มวยไทย ตามความตกลงใจของพี่เลี้ยง
ประชาชนยังไม่จุใจ ต่างบ่นพึมพำไม่ได้ศัพท์ แต่ไม่มีการขว้างปาไม่ว่าด้วยของแข็งหรือของอ่อน นับว่ามีวัฒนธรรมแบบไทยๆ
มวยอินทร์ได้รับรางวัลเงินเหรียญบาทจากพานเงินเป็นรางวัล ๑ ตำลึงซึ่งอาจใช้ชำระรัชชูปการในจังหวัดชุมพรได้ประมาณ สองปี มวยพม่าได้รางวัลลดหย่อนลงมา คือเพียง สามบาท

นั่นคือลำดับเหตุการณ์ในอดีตอันเเสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันของมวยไชยา มวยเอกของหัวเมืองปักษ์ใต้ ซึ่งเคยมี เคยอยู่ในเมืองชุมพร ทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับ สถานที่และ บุคคลสำคัญในเมืองชุมพรอย่างเด่นชัด แต่คนชุมพรน้อยคนนักที่จะรู้ถึงความข้อนี้

ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงเอาจากคำบอกเล่าของครูแปรง ณปภพ ประมวญ และยกเอาบทความบางส่วนจาก หนังสือปริทัศน์มวยไทย ซึ่ง ครูเขตร ศรียาภัย เป็นผู้เขียนมาประกอบไว้เพื่อให้ความกระจ่างในความสัมพันธ์ของมวยไชยาที่ข้าพเจ้ารัก และ เมืองชุมพรอันเป็น บ้านเกิดของข้าพเจ้า นายชนุภณ ยอดสมัย (นักเรียนโรงเรียนศรียาภัย ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕- ๒๕๔๐)บันทึก ณ โรงฝึกมวยไทยไชยา บ้านครูแปรง สาขาภูเก็ต เมื่อ วันเสาร์ ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Fire Thai sword by Mr. Chanuphon Yodsamai (muaychaiya)







การฝึกควงดาบไฟ โดยใช้การกลิ้งม้วนฟัน แบบสายดาบไทย บ้านครูแปรง เป็นชุดฝึก หนุมานคลุกฝุ่น แต่ ชุดนี้ เป็นการฝึกซ้อม เล่นๆครับ