นายโชติ chaiyawut

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ความแตกต่างของท่าไม้กล ทุ่ม ทับ จับ หัก ของมวยไชยาสายครูแปรง กับ มวยสายจับอื่นๆ ในสายตาของข้าพเจ้า (เมื่อ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓)

ความแตกต่างของท่าไม้กล ทุ่ม ทับ จับ หัก ของมวยไชยาสายครูแปรง กับ มวยสายจับอื่นๆ ในสายตาของข้าพเจ้า (เมื่อ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓)

อนึ่งในการเรียนหลักสูตร ทุ่ม ทับ จับ หัก นั้น ข้าพเจ้าเองก็มิได้เรียนมาอย่างครบถ้วน เพียงแต่ฝึกหัดมาจากท่าพื้นฐาน ที่ครูแปรงท่านสอนให้ แล้ว หมั่นฝึกฝน โดยอาศัยท่าพื้นฐานของมวยไชยา และ จากไม้กล จับหัก ที่ครูแปรงท่านได้สาธิตให้ดู แล้วนำมาปรับใช้เองตามสถานการ์ณ


จากที่ได้มีโอกาส แม้จะน้อยนิดก็ตาม ได้พบปะพูดคุยกับผู้รู้ในสายวิชาจับหัก แบบ ยูโด หรือ ยิวยิสสุ รวมถึงได้ประลองฝีมือ กับสายวิชา จับล็อกมาบ้าง ข้าพเจ้าพอจะอนุมานได้ว่า ในสายวิชาจับล๊อกนั้นเขามักใช้ร่างกาย หรือ กล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ เข้าจัดการกับ ข้อต่อส่วนน้อย โดยใช้การยืดตัว พับหัก หรือ กด รวมทั้งใช้การกอดรัดให้แน่น ส่งผลให้คู่ต่อสู้ อึดอัด หรือ หมดสติ หรือ ต้องพิการจากการถูกบิดหัก ข้อต่อ ตามแบบ หลักสูตรวิชาซึ่งมักเป็นแรง กด บิด ดึง งัดของกล้ามเนื้อ เพื่อให้หัก ของ แต่ละสายวิชา และการเริ่มต้น ในการต่อสู้คือการเริ่มประชิดตัว เช่น จับแขน หรือ ขา คู่ต่อสู้ ทำให้ล้ม แล้ว ค่อยใช้วิชา จับหักต่อไป ซึ่งถือเป็นศาสตร์การต่อสู้ที่ยอดเยี่ยมมากๆ


แต่ในสายมวยไชยาในสายครูแปรงนั้น เราใช้วิถีแห่งวัฒนธรรมไทย การยืน การเดิน การนั่ง ตามแบบฉบับของคนไทยโบราณ มาปรับใช้กับการต่อสู้แบบคลุกวงใน โดยนำเอาการเดินเข่า คลานเข่า การย่างถวายบังคมด้วยเข่า เอาท่าร่ายรำจากท่าไหว้ครูมวย ครูดาบ ครูอาวุธ เอาวัฒนธรรมอันสวยงาม คือ การไหว้ และ นำเอาท่าพื้นฐานของมวยไชยาทั้งหมด รวมทั้งท่าย่างสามขุม การฟังแรง ถ่ายแรง ผ่อนตาม มาปรับใช้กับการจับหัก เพียงแต่ผู้ฝึกจักต้องรู้จักถึงองคาพยพน้อยใหญ่ในร่างกายของเราเสียก่อน ว่าส่วนใดอ่อนอันควรปกปิดหลีกเลี่ยงจากการปะทะ ส่วนใดแข็งพอที่จะใช้เป็นอาวุธ แล้ว นำมาใช้ให้ถูกส่วน ซึ่งในสายวิชามวยไชยาสายนี้ เรียกว่า กายวุธ คือทุกส่วนของร่างกายที่ใช้เป็นอาวุธได้ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียง อาวุธหลัก เช่น หมัด เท้า เข่า ศอก เพียง ๔ อย่าง ๘ อาวุธเท่านั้น อาวุธ ใน กายวุธ ยังรวมตลอดถึง ส่วนแข็งของร่างกายอื่นๆอีกเช่น กระดูกข้อมือด้านนอก ที่เราเรียกว่าตานกเอี้ยง กระดูกตาตุ่มด้านนอก กระดูกท่อนแขน กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อมือด้านใน ข้อสันหมัดแบบหงายหรือคว่ำ แม้แต่คางของเรา ก็ยังสามารถใช้ได้เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกที่เท่านั้น และยังหมายความตลอดถึง การใช้ บานพับ ที่พับเข่า พับศอก และการใช้กล้ามเนื้อส่วนที่โตกว่าเพื่อยึดจับอวัยวะของคู่ต่อสู้อีกด้วย นอกจากจะใช้ แรง กด บิด ดึง งัดของกล้ามเนื้อแล้ว ยังใช้แรงตัด เชือดด้วยข้อกระดูกอีกด้วย


เมื่อเรารู้จักใช้การย่างสามขุมบวกกับการใช้กายวุธแล้ว การจับหัก ยังมีทั้งแบบการจับเพื่อควบคุม คือการจับกุม ให้คู่ต่อสู้ยอมจำนนเมื่อเห็นว่าหมดทางสู้แล้ว หรือ บิดพลิกหักในทันที เมื่อเข้าไม้กล โดยไม่เน้นการจับกุมให้หยุดอยู่กับที่ เพราะอาจเป็นการเสียเวลาหากมี คู่ต่อสู้มากกว่าหนึ่ง

ข้อแตกต่างจากการสังเกตุของข้าพเจ้าอีกประการหนึ่งนั้นพบว่าในสายวิชาจับล๊อคอื่น อาจจะเป็นด้วยรูปแบบการแข่งขันก็เป็นได้ ที่ทำให้มิติในการต่อสู้ถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบ หนึ่งต่อหนึ่ง คือ หากเน้นการนอนสู้กันตัวต่อตัวแล้ว จึงไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีคนอื่นเข้ามารุมทำร้ายด้วยหรือไม่ เพราะเห็นได้จากท่านอนสู้ของสายวิชาอื่นหลายๆท่าที่ ผู้จับ นอนจับคู่ต่อสู้แล้วเหยียดตัว หรือ นอนทับคู่ต่อสู้เพื่อหัก แขน หรือ ขา คู่ต่อสู้ การนอนสู้เช่นนั้นเป็นผลดีในการสู้ตัวต่อตัว เพราะ สามารถใช้น้ำหนักตัว บวกกับ แรงกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ยึดตรึงคู่ต่อสู้ได้ดี แต่คงใช้ไม่ทันการหาก คู่ต่อสู้มีมากกว่าหนึ่งคน เพราะหากมัวนอนคลุกอยู่กับอีกคนหนึ่ง ก็อาจถูกอีกคนหนึ่ง ลอบเข้าโจมตีทางด้านหลังหรือ มุมอับได้ง่าย ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าสายวิชาจับล็อคของชาติอื่นๆที่คงอยู่รักษาบ้านเมืองของเขามาได้นับพันปีเช่นนี้คงจะมีกลวิธี รับมือจาก กรณีเช่นนี้เป็นแน่ เพียงแต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าเขามีเท่านั้น


ในกลจับหัก ของครูแปรงจากที่ข้าพเจ้าศึกษานั้นพบว่า ครูแปรงท่านจะเน้นการนั่งคลุก แบบท่านั่งถวายบังคม หรือ คลานเข่า อยู่บนตัวคู่ต่อสู้ มากกว่าที่จะนอนราบไปกับคู่ต่อสู้ เพื่อเป็นการทิ้งน้ำหนักตัวลงกดทับตัวคู่ต่อสู้ และนอกจากนี้เมื่ออยู่ในรูปการนั่งชันเข่าแล้วการเคลื่อนที่หมุนวน หลบหลีกหากมีการจู่โจมจาก ผู้อื่นเพิ่มเติมก็จะ รับมือได้ง่ายกว่า การนอนสู้อยู่กับคนคนเดียว ทำให้มิติในการต่อสู้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในแบบหนึ่งต่อหนึ่ง และอาจใช้ในสถานการณ์จริงที่เราไม่สามารถจะทราบได้ว่าคู่ต่อสู้มีกีคนได้ดีกว่า


และด้วยความที่มวยไชยา เป็นมวยไทยขนานเดิมที่มีอาวุธหลักอยู่ครบถ้วน จึงยังสามารถ ใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ได้ดีในการ ป้องกันตัว หรือ โจมตีคู่ต่อสู้ การใช้ไม้กลทุ่มทับจับหัก จึงมักเป็น กล จากการแก้อาวุธศัตรู เช่น ไม้กลขุนยักษ์จับลิง ใช้ แก้หมัดตรง ไม้กลฟาดกุมภรรณใช้แก้ เตะ ไม้กลรัดงวงแทงงาใช้แก้เตะ ไม้กลช้างสบัดหญ้าใช้แก้หมัดตรง ไม้กลขุนฆ้อนตีทั่งใช้แกเตะ ไม้กลนาคคู้บัลลังค์ใช้แก้หมัดตรง ไม้กลหงส์ปีกหัก ใช้แก้หมัดตรง เป็นต้น ซึ่งท่าที่กล่าวแล้วนั้นเป็นกลจับหักทั้งสิ้น จึงไม่ต้องทนแลกแข้ง แลกหมัด เสี่ยงดวงเข้าเพื่อจับหักแต่อย่างใด หากปฏิปักษ์ ไม่ถลำมาจนประชิดตัว ก็ใช้ไม้สั้น ไม้ยาว ตามแต่จะถนัดได้ แต่หากพัลวันกันจนถึงกับต้องกอดรัด ก็ยังใช้กล คลุกปล้ำจับหัก แก้ไขได้ในทันที



ทั้งนี้ข้าพเจ้า นายชนุภณ ยอดสมัย (โช) ได้แสดงความคิดเห็นตามภูมิปัญญาที่ข้าพเจ้าเข้าใจเท่านั้นหากมีข้อผิดพลาดแต่ประการใด ข้าพเจ้าขอรับไว้แต่ผู้เดียวครับ

History MuaythaiChaiya Thai weapons Grapling smashing trowing