นายโชติ chaiyawut

วันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553

หมื่นมวยมีชื่อ ปล่อง จำนงทอง มวยคาดเชือก สายไชยา เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย

หมื่นมวยมีชื่อ ปล่อง จำนงทอง มวยคาดเชือก สายไชยา เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย

เมื่อคราสมเด็จพระปิยมหาราช ได้เสด็จประพาสปักษ์ใต้นั้น ได้ทรงทอดพระเนตรการชกมวยอันเป็นการละเล่นที่ทางบ้านเมืองจัดถวาย และโดยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงสนพระทัยศึกษาเล่าเรียนวิชามวยไทย กระบี่กระบอง และเพลงดาบจากปรมาจารย์ หลวงพลโยธานุโยค ครูมวยหลวง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการชกมวยในงานพระราชทานเพลิงพระศพ กรมขุนมรุพงศ์สิริพัฒน์ ณ ด้านใต้ของทุ่งพระเมรุ (ซึ่งต่อมาทางราชการได้มีประกาศให้เรียกว่าสนามหลวง)

นักมวยที่เจ้าเมือง นำเข้ามาเพื่อแข่งขันหน้าพระที่นั่งในครั้งนั้น ล้วนมีฝีมือดีเยี่ยม โดยฝ่ายข้างเมืองไชยา พระยาไวยวุฒิวิเศษฤทธิ์(ครูขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ได้นำนายปล่อง จำนงทอง ชาวบ้านหัววัว ตำบลเลม็ด เมืองไชยา มาประลองฝีมือ ได้คู่ชก กับนักมวยโคราช พวกเดียวกับนายแดง ไทยประเสริฐ (ต่อมาได้เป็นหมื่นชงัดเชิงชก) ซึ่งพระยาเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราชเป็นผู้นำมา

เมื่อมีสัญญาณกลองให้เริ่มชกกันได้ นักมวยโคราชดูเหมือนจะคึกคะนองอย่างเชื่อมั่นในฝีมือ นายปล่องนักมวยไชยาทรุดตัวลงนั่งยองๆแบบเบญจางคประดิษฐ์ ซึ่งชาวพุทธถือว่าเป็นกิริยาการสักการะอย่างสูงสุด กระทำการกราบถวายบังคมพระเจ้าอยู่หัวแล้วค่อยๆคลานถอยหลังออกมาราว ๕ ก้าว ยืดตัวขึ้นยืนตรงหันหน้าสู่ทิศบูรพา อันเป็นทิศสถิตของครู ชายหางตาชำเลืองดูคู่ปรับ เพื่อหาจุดจบ

นายปล่อง จำนงทอง ยกหมัดขวาขึ้นช้าๆ ใช้นิ้วขึ้นแตะจมูกเพื่อสอบปราณ อาราธนาคุณผ้าประเจียดรัดแขนของพระอาจารย์หลวงพ่อปลัดชุ่ม เจ้าอาวาสวัดอุดม และหลวงพ่อมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง ระหว่างที่นายปล่อง กำลังร่ายรำด้วยท่าชักช้าอยู่นั้น นักมวยโคราชถือว่าได้มีสัญญาณให้ชกต่อยกันได้แล้ว จึงก้าวพรวดๆ ตวัดด้วยตีนขวาตามถนัด แม้นายปล่องจะไหวตัวทันและผงะหงายหน้าออกห่างก็ไม่สำเร็จ ปลายตีนปฏิปักษ์ปะทะเข้าเหนือขมับ นายปล่อง มือตกตาลอย หงายหลังดิ้นเร่าๆ อยู่กับพื้นสนาม นักมวยโคราชกระโดดตัวลอยด้วยความดีใจ ถอยออกรำเยาะเย้ยอยู่ห่างๆ ประชาชนบางคนตะโกนเชิงคัดค้าน แต่บางคนเห็นสมควรเพราะกรรมการได้ลั่นกลองสัญญาณให้คู่ต่อสู้ตีกันได้แล้ว มวยไชยา อยากเซ่อซ่าเองต่างหาก

นายปล่อง จำนงทอง ถูกประคองเข้าพุ่ม (ที่พักให้น้ำนักมวยสมัยก่อน) การต่อสู้ต้องชะงักลงชั่วคราวโดยให้นักมวยคู่อื่นชกต่อยกันแทนตามประเพณี นายปล่อง ได้รับการปัดเป่านวดเฟ้นจนรู้สึกตัวและลืมตา คุณพ่อของผู้เขียนซึ่งมีสีหน้าทุกข์ร้อนตลอดเวลา เข้ามากระซิบถามนายปล่อง จำนงทอง ว่าจะยอมแพ้หรือสู้เขาต่อไป นายปล่องตอบทันควันว่า “จะขอสู้จนตายคาตีน” (ฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓๐๑ วันพฤหัสบดีที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๗)

คุณพ่อยิ้มออก เมื่อได้ยินคำนายปล่อง เอื้อมมือลูบก้านคอลูกศิษย์ตัวโปรดชี้จุดมรณะพลางปลอบใจที่ไม่เสียแรงเกิดใกล้แดนน้ำเค็ม พร้อมกระซิบข้างหูให้ “จับหัก” อันเป็นกระบวนแม้ไม้กลในสาขาวิชามวยไทย

เมื่อเริ่มต้นการชกนายปล่อง จ้องเขม็งไปยังร่างคู่ปรับอย่างไม่กระพริบตา ยกหมัดครู ตามแบบฉบับการไหว้ครูอย่างย่อของมวยปักษ์ใต้ ด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เสียทีซ้ำสอง บรรจงย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์ เริ่มการต่อสู้แบบ “ยอมตายคาตีน” ย่อตัวลงต่ำ สั่นหัวดิกๆ ทำทีตุปัดตุเป๋ คล้ายกับคนที่เพิ่งส่างเมา

นักมวยโคราชมองเขม้นดูอาการนักมวยไชยาที่ยังฮึดสู้ มั่นใจและแปลกใจระคนกัน นายปล่อง ยอบตัวต่ำลงๆ งอศอกพันหมัดซ้ายขวาสลับป้องกันด้านหน้าตลอดถึงชายโครง ค่อยๆ กระดิบๆ ด้วยปลายนิ้วตีนเข้าหาปฏิปักษ์ในแดนอันตราย ก่อความสนเท่ห์ลังเลใจให้แก่นักมวยโคราช ซึ่งรอจังหวะพิฆาตคู่ปรับด้วยไม้สำคัญของชาวที่ราบสูง

เอาซี! เตะ! เตะ! เป็นเสียงตะโกนติดต่อจากรอบสนาม

ตีนที่เขย่งขยับสับเปลี่ยน พร้อมที่จะฟาดเปรี้ยงทุกขณะ จำต้องรอจังหวะเพื่อผลทีเดียวอยู่

นายปล่องเองก็ได้ยินเสียงเตือน อย่าย่อต่ำ! อย่าย่อต่ำ! เดี๋ยวตาย! แต่ไม่ยอมฟังเสียง เพราะได้ตั้งใจยอมตายคาตีน ยิ่งประชิดเข้าไป ตาจ้องจับบริเวณท้องน้อยตรงจุดหนึ่งในสามที่เรียกว่า “สุมนา” ตามตำราหมอนวด กล้ามเนื้อแขนขาของนายปล่องดิ้นยุบยิบ พร้อมที่จะปฏิบัติงานสำคัญทันทีทันใด

ปฏิปักษ์ชาวโคราชยิ่งสงสัยเชิงของคู่ต่อสู้ยิ่งขึ้น รัวแขนไขว้ป้องกันตีวงใน พร้อมที่จะดีดด้วยแข้งหากถูกจู่โจม
นายปล่องคงชันเข่าซ้าย เคลื่อนตนเข้าแดนอันตรายหรือระยะตีนส่วนขาขวาเหยียดยาวทอดไปข้างหลังทำนอง “เสือลากหาง” ก่อนตะครุบเหยื่อ
คู่ต่อสู้ยังไม่เตะทั้งๆที่น่าจะทำได้ ประชาชนคนดูโห่เท่าไรก็โห่ไป เมื่อยังไม่ได้ช่องเหมาะก็ยังไม่ทำ ซึ่งเป็นคำอบรมสั่งสอนของครูอาจารย์

ขณะนี้หน้าของนายปล่อง อยู่ในระดับเข่าของปฏิปักษ์ และห่างจากตีนไม่ถึง ๒ ศอก กัดฟันตัดสินใจครั้งสุดท้าย พลาดท่าก็หาม นายปล่องรีบเอื้อมมือขวาปัดปลายขาซ้ายด้านนอกของคู่ต่อสู้

คนดูนิ่งเงียบด้วยตกตะลึงที่เห็นมวยไชยา กล้าเสี่ยงอย่างบ้าบิ่น ทันทีทันใดนั้น ตีนขวามหาประลัยก็ผลุดจากแหล่งสมดังคำพังเพย “ ตีนดีโคราช “ ซึ่งยังความขยั้นครั่นครามไว้แก่นักมวยต่างถิ่นทั่วๆไป

ในพริบตาเดียวกันนั้นเอง นายปล่อง จำนงทอง รีบลากขาขวาเสือกพรวดไปข้างหน้าใต้หว่างขาปฏิปักษ์ งอศอกขวาไขว้แนบปลายคางจนหมัดขวาพาดปิดขมับเหนือหูซ้าย ทะลึ่งลุกพลิกเหลี่ยม กระชากขาขวาผู้เตะเข้ามาชิดตัวจนปฏิปักษ์เสียหลัก พร้อมกันนั้นก็กดหัวปฏิปักษ์ทิ่มลงกับพื้น แบบ “ หิรัญยักษ์ม้วนแผ่นดิน” ก้านคอด้านหลังของนักมวยโคราชสัมผัสพื้น โดยมีร่างกำยำนำด้วยศอกประกับเข่าของมวยไชยาทับลงไปบนหน้าอกและท้องน้อย ท่ามกลางเสียงโห่ร้องก้องบริเวณโดยไม่ทราบว่าใครโห่ให้ฝ่ายไหน

ปรากฎว่านายปล่อง เป็นฝ่ายลุกขึ้นก่อนส่วนปฏิปักษ์ยังคงนอนหงายหลับตาพริ้ม จนพวกพี่เลี้ยงต้องช่วยกันหามเข้าพุ่ม(ที่พักให้น้ำ) พยายามนวดเฟ้นแก้ไขด้วยความห่วงใย แต่นักมวยฝ่ายถูก “จับหัก” นอนคอเอียง ไม่อาจลุกขึ้นชกแก้ตัว จนกระทั่งเวลาค่ำมวยเลิก

ด้วยชัยชนะอันเฉียบพลันเหนือคู่ต่อสู้ และมีพระราชปรารภในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดว่า “อ้ายนี่สำคัญ” นายปล่อง จำนงทอง จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่ “หมื่นมวยมีชื่อ” พร้อมกับนักมวยเอกผู้พิชิตคนอื่นๆในโอกาสเดียวกันอีกสองท่านด้วย

ฝ่ายไชยาหรือมวยภาคใต้ในสมัยนั้น จึงได้นับถือกันว่า “การทุ่มทับจับหัก” เป็นขั้นอุดมศึกษาของวิชามวยไทย
จากมวยครั้งนี้ อำมาตย์เอก พระยาประวัติสุทธิกรณ์ (เจริญตุลยานนท์) หัวหน้ากองบัญชี กรมนคราทร กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า มวยหน้าที่นั่งครั้งรัชกาลที่ ๕ ซึ่งมวยไชยาถูกเตะชักแต่กลับเอาชนะมวยโคราชได้นั้น ทำให้เกิดความตื่นเต้นเหลือขนาด ถึงอ้าปากค้าง เพราะต่างฝ่ายต่างเปิดฉากใช้ไม้เด็ด ของครูอาจารย์ซึ่งยากนักจะได้เห็น
( เขียนโดย ครูเขตร ศรียาภัย ลงใน นิตยสารฟ้าเมืองไทย ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๓๐๒ วันพฤหัสบดีที่ ๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘)

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Muayboran expected rope มวยโบราณ มวยคาดเชือก กับการคาดเชือกของนักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม

Muayboran expected rope มวยโบราณ มวยคาดเชือก กับการคาดเชือกของนักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม

เนื่องจากมือเป็นอวัยวะสำคัญในการครองชีพ หากมือพิการย่อมทำให้เจ้าของมือหย่อนสมรรถภาพลงมากจนไม่อาจหาสิ่งประดิษฐ์ใดๆมาทดแทนได้ นักมวยไทยในยุคก่อนสวมนวม จึงใช้ด้ายดิบที่จับเป็น “ไจ” (รวมเส้นด้าย) ขนาดโตประมาณดินสอดำ ต่อกันให้ยาวเป็นเส้นยาวประมาณ ๒๐ – ๒๕ เมตร ม้วนแยกเป็น สองกลุ่ม สำหรับ มือซ้าย และ มือขวา ทั้งนี้ความยาวของด้ายดิบนั้นก็ขึ้นอยู่กับ ประเพณีการคาดเชือกของแต่ละสายมวย ซึ่งมีเคล็ดลับ และ วัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยไม่มีข้อบังคับไว้ว่าต้องยาวแค่ไหนเพียงไร หรือจะไม่คาดหมัดเลย ก็ยอมให้ชกกันได้ เช่น นักมวยของเจ้าหลวงลำปาง เมื่อครั้งส่งเข้ามาชกแข่งขันเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า ณ สนามมวยสวนกุหลาบ ก็ไม่คาดเชือกที่หมัดเลย

นักมวยจากนครราชสีมา (นายทับ จำเกาะ , นายยัง หาญทะเล) เป็นมวยเตะ นักมวยจากเมืองนี้จึงคาดหมัดถึงข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะได้พอสมควร จึงใช้เชือกยาว เพราะนอกจากพันหมัดได้แล้ว ยังพันรอบแขนจรดข้อศอกกับทั้งยังขมวดไว้กันหลุดลุ่ยอีกด้วย

นักมวยจากลพบุรี เป็นที่เลื่องลือ ว่าเป็นมวยหมัดตรง และแม่นยำ ไม่นิยมการใช้มือป้องกันการเตะ ชอบชกต่อยแบบตรงๆ จึงต่อยแหวกการจดมวย(คุมมวย)ได้ดี การใช้ด้ายดิบพันหมัดจึงไม่สู้ยาวนัก

นักมวยจากไชยา ชุมพร หลังสวน มีการคาดหมัดทั้งแบบใหญ่และเล็ก แต่ก็มีจุดที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ จะคาดเชือกไม่เลยข้อมือมากนัก ทั้งนี้เพราะมวยภาคนี้ต้องการใช้ศอกรับ (ปิด) ตีนและท่อนแขน รวมทั้งศอกกระทุ้งแทงลำตัวโดยเรียกลักษณะการกระทำด้วยรหัสที่รู้กันในหมู่มวยภาคใต้ว่า ”ปักลูกทอย และ ฝานลูกบวบ” ส่วนขนาดของด้ายจะยาวหรือสั้น ก็สุดแล้วแต่ประเภทบุคคล หากประสงค์จะใช้หมัดปิดป้องหน้าก็ใช้เชือกยาวซึ่งจะมีผลทำให้อืดอาดได้ ถ้าใช้ด้ายขนาดสั้นก็เคลื่อนไหวได้คล่องตัวกว่า

บทความนี้ข้าพเจ้าได้คัดลอกจากบทความของ ครูเขตร ศรียาภัย ซึ่งได้ลงพิมพ์ในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย เมื่อหลายสิบปีก่อน มาขยายความเข้าใจของอนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาไว้ครับผม

วันอาทิตย์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

มวยไชยา กับ เมืองชุมพร มวยปักษ์ใต้

มวยไชยา กับ เมืองชุมพร

มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.๕ คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)ซึ่งเป็นบิดา ของปรมาจารย์มวยไทย เขตร ศรียาภัย และ ย่าชื่น ศรียาภัย ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรียาภัย อันเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดชุมพร

จน มีคำกล่าวผูกเป็นกลอนว่า ” หมัดดีโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ” จะเห็นได้ว่าผู้ที่เป็นนักมวยในสมัยนั้น ได้รับการยกย่องมาก เพราะบ้านเมืองสนับสนุน และเมืองที่มีมวยฝีมือดีก็จะได้รับการยกย่องให้เป็น ” เมืองมวย ” มวยไชยา นั้นเป็นที่นิยมแพร่หลาย ในเขตภาคใต้ตั้งแต่ ชุมพร หลังสวน ลงมาโดยมีเมืองไชยาเป็นศูนย์กลาง และยังมีครูมวยอีกหลายท่านที่มีชื่อเสียงมากมาย
โดยเมื่อวันที่ 26 กันยายน ร.ศ. 115 ( พ.ศ. 2439) สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จฯพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบว่าตามที่ได้มีกระแสพระราชดำริให้จัดหัวเมืองปักษ์ใต้ตอนเหนือเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น คือเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองหลังสวน เมืองกาญจนดิษฐ์ และเมืองกำเนิดนพคุณ ( บางสะพาน) ทั้ง 5 หัวเมืองรวมเข้าเป็นมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่า มณฑลชุมพร ดังนั้นเมืองในมณฑลชุมพรจึงคงมีเพียง 5 หัวเมือง ซึ่งพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นชอบตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพดำเนินการไป จึงทำให้เมืองชุมพร และ เมืองไชยา อยู่ใน มณฑลเดียวกัน มีหลายโอกาสที่ได้มีกิจกรรมระหว่างเมืองร่วมกัน

ฝ่ายข้างเมือง ไชยานั้น ประชาชนทั่วไปชอบการต่อสู้ จึงมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธต่าง ๆ รวมทั้งการต่อสู้มือเปล่า จึงมีคำว่า “มวยไชยา” เกิดขึ้นจนกระทั่งบัดนี้ ส่วนเมืองชุมพร ประชาชนชอบสนุกสนาน ชอบร้องรำทำเพลง เมื่อมีการประลองฝีมือทางอาวุธหรือการต่อสู้คนไชยาจะชนะเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้ามีการประชันการขับร้อง คนชุมพรจะชนะเสียโดยมาก
ความมีชื่อเสียงของมวยไทยไชยานั้นเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายจนเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป มีหลักฐานปรากฏอยู่ในวรรณกรรมท้องถิ่นภาคใต้ เช่น มีเพลงนาบทหนึ่งของจังหวัดชุมพร กล่าวไว้ว่า “มวยดีไชยา เพลงนาชุมพร ขึ้นชื่อลือกระฉ่อน มานานหนักหนา” (ทวี เชื้อเอี่ยม. 2529 : 2716) หรือในเรื่อง “พลายจำเริญ” วรรณกรรมท้องถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้กล่าวถึงมวยไทยไชยาไว้ว่า “คนหนึ่งชื่อคล้าย รูปร่างคมคาย บ้านอยู่สงขลา คนหนึ่งชื่อลิบ ขุนทิพย์นำมา มันอยู่ไชยา เข้ามาบังคม” และ “แขกตีกลองชนะ สองเข้าปะทะ สู้กันทั้งสอง ลิบมวยไทยไชยา ทีท่าไวว่อง ตีนเท้าศอกถอง คล้ายหยองทุกที” (กวี บัวทอง และคณะ. 2526 : 3) อันเป็นคำกล่าวตามอาวุธถนัดของนักมวยไชยา คือ ศอกไชยา

ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย เป็นลูกคนสุดท้องของพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
ท่านเกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๕ ณ ตำบลหนองช้างตาย (ต.ท่าตะเภา ในปัจจุบัน) (อันเป็นตำบลเดียวกันกับที่ข้าพเจ้าเกิด)อำเภอท่าตะเภา จังหวัดชุมพร ในสมัยเด็กอายุประมาณ ๑๐ ขวบ เขตร ศรียาภัย ได้เข้าโรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม อยู่ที่บ้านทวาย ชอบกีฬาประเภทออกแรง ทุกชนิด เช่น พายเรือ ว่ายน้ำ วิ่งแข่ง ตีจับ ฯลฯ ได้เป็นที่ ๑ ในชุดวิ่งเปรี้ยวชิงชนะเลิศกับชุดโรงเรียนวัดประทุมคงคา ได้ถ้วยและ โรงเรียนมัธยมวัดสุทธิวราราม มีชื่อทางวิ่งเปรี้ยวแต่นั้นมา
และได้ลาออกเพื่อเข้าโรงเรียนอัสสัมชัญเมื่ออายุได้ ๑๓ ปี เพราะทนถูกรังแกจากนักเรียนที่ใหญ่กว่าไม่ไหว ณ โรงเรียนฝรั่งแห่งใหม่กลับร้ายกว่า โรงเรียนเดิมเพราะมีนักเรียนมากกว่า ๓ เท่า เขตร ศรียาภัย ต้องทนมือทนตีนอยู่ ๓ ปี อันเป็นปฐมเหตุแห่งความพยายามศึกษาวิชาต่อสู้ ซึ่งมีครูดี ๆ รวม ๑๒ ท่าน คือ
๑. พระยาวจีสัตยารักษ์ ( ขำ ศรียาภัย ) เจ้าเมืองไชยา (บิดาบังเกิดเกล้า)
๒. ครูกลัด ศรียาภัย ผู้บังคับการเรือกลไฟรัศมี (อาของท่าน)
๓. หมื่นมวยมีชื่อ ( ปล่อง จำนงทอง )
๔. ครูกลับ อินทรกลับ
๕. ครูสอง ครูมวยบ้านนากะตาม อำเภอท่าแซะ ชุมพร
๖. ครูอินทร์ สักเดช ครูมวยบ้านท่าตะเภา ชุมพร
๗. ครูดัด กาญจนากร ครูมวยบ้านหนองทองคำ
๘. ครูสุก เนตรประไพ ครูมวยบ้านแสงแดด ชุมพร
๙. ครูวัน ผลพฤกษา ครูมวยตำบลศาลเจ้าตาแป๊ะโป
๑๐. อาจารย์ ม.จ.วิบูลย์สวัสดิวงศ์ สวัสดิกุล
๑๑. ครู (กิมเส็ง)สุนทร ทวีสิทธิ์ ปรมาจารย์มวยมีชื่อในพระนคร อาจารย์สอนมวยกรมพละศึกษา
๑๒. อาจารย์ หลวงวิศาลดรุณากร
๑๓.อาจารย์กิมเส็ง สุนทร ทวีสิทธิ์
โดย อาจารย์เขตร ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขาวม้า และขันน้ำ ไปกราบขอเป็นศิษย์กับ อาจารย์กิมเส็ง ในวัน พฤหัสบดีอันเป็น " วันครู " ตามคติโบราณ ได้อยู่ร่ำเรียนรับใช้ ไปมาหาสู่กับ อาจารย์กิมเส็ง เป็นเวลา ๔๐ ปี จนครูท่านสิ้น จึงนับได้ว่าวิชามวยไชยาสายอาจารย์เขตร นั้นมีส่วนผสมวิชามวยของท่านอาจารย์กิมเส็ง อยู่อย่างแยบยลจนแยกกันไม่ออก

ย่าชื่น ศรียาภัย พี่สาวของครูเขตร ท่านชื่นชอบศิลปะการต่อสู้ มวยไชยาของบ้านเกิดเป็นอันมาก ครั้งเมื่อ นักมวยจากปักษ์ใต้จะเดินทางไปชกต่อยทางกรุงเทพฯ ย่าชื่น ก็ได้จัดให้นักมวยนั้นได้พักอยู่ที่บ้านไชยา แถว สีลม และเลี้ยงดูอย่างดี เป็นเหตุให้นักมวยไชยามีฝีมือเป็นที่สบอัธยาศัยของเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เพราะเคยเสด็จปักษ์ใต้ จึงได้เรียกพวกนักมวยไชยาไปฝึกซ้อมที่วังเปรมประชากร ภายใต้ความควบคุมของ น.ท.พระชลัมพิสัยเสนี ร.น. (แฉล้ม สถีรศิลปิน)

ครูอินทร์ ศักดิ์เดช มวยเอกเมืองชุมพร ซึ่งไม่เคยแพ้มวยคนใดตั้งแต่เพชรบุรีลงไปถึงนครศรีธรรมราช โดยข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึงมวยประวัติศาสตร์ของเมืองชุมพรคู่หนึ่ง .ในงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่ทางราชการได้จัดให้มีขึ้น ณ ริมถนนปรเมนทรมรรคา หน้าศาลากลางจังหวัดชุมพร (ที่เก่าตรงข้ามศาลหลักเมืองชุมพร) โดยมีกระดานดำเขียนรายการมวยอันเป็นธรรมเนียมของจังหวัดภาคใต้ ว่า “มวยอินทร์จะชกกับมวยพม่าซึ่งมาจากเกาะสอง แขวงเมืองมะริด

ข่าวได้แพร่สะพัดเหมือนไฟไหม้ทุ่งหญ้าคาในฤดูแล้ง ผู้คนจากตำบลใกล้เคียงรอบๆตัวเมือง เช่น คอกระออม ขุนกระทิง วัดขวาง วังไผ่ หนองคล้า บางลึก หาดพันไกร นากระตาม นาชะอัง ขุนแสน หูรอ นาทุ่ง ปากน้ำ บางคอย ท่ายาง บางหมาก แสงแดด บ้านเหนือ และตำบลอื่นๆต่างได้ชักชวนกันมาเพื่อดูมวยไทยกับพม่า ซึ่งส่อให้เห็นว่าชุมพรเป็นเมืองมวยแห่งหนึ่งของปักษ์ใต้ ผู้คนชาวชนบทจำนวนมาก ต่างพากันย่ำฝุ่นตลบไปหมด เพราะครั้งกระโน้นยังไม่มีรถหรือยวดยานพาหนะ นับเป็นทัศนภาพที่ประหลาด นานๆจะได้เห็น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมวยอินทร์เป็นมวยฝีมือเอก ในสมัยนั้น ไม่มีใครเคยเห็นมวยอินทร์แพ้ ไม่มีนักมวยคนใดในจังหวัดตั้งแต่เพชรบุรีลงไปจนถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชอาจหาญต่อสู้กับ นายอินทร์ ศักดิ์เดช

และอีกประการหนึ่งคือ คนไทยในจังหวัดชุมพรซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกพม่าอยากดูฝีมือมวยพม่า
มวยพม่า แขนขากระชับ ล่ำสันได้สัดส่วนสมเป็นลูกผู้ชาย มุ่นมวยผมเอียงไว้ข้างคล้ายหมวกเบเร่ต์ ถักหมัดบางด้วยด้ายดิบขดก้นหอยเพิ่มหางเชือกตามประเพณีเกือบท่วมข้อศอก มีรอยสักชาด (แดง) ลายพร้อยทั้งสองไหล่ตลอดหน้าอก พื้นท้องชายโครงและด้านหลัง รอบท่อนขาปรากฏว่าตั้งแต่ใต้เข่าคู่ มีรอยสักดำลายมอม รูปคล้ายราชสีห์ของไทย ซึ่งพวกพม่าในสมัยโบราณเชื่อถือ กล่าวกันว่า พวกผู้หญิงพม่าจะไม่ยอมให้อาบน้ำเหนือน้ำถ้าไม่มิได้สักลายมอม มวยพม่าเคี้ยวหมากปากแดง ยิ้มอย่างใจเย็น ไม่แสดงอาการยำเกรงศักดิ์ศรีของมวยอินทร์แม้แต่น้อย

มวยอินทร์ ล่ำเป็นตอม่อ ผิวดำ เนื้อละเอียดเหมือนชาวมัทราสเพราะเป็นคนอาบน้ำว่านยาตามตำรากะบิลว่านแบบที่เรียกกันว่า “ชุบตัว” เพื่อความคงกระพัน นัยน์ตาเล็กเป็นปลาดุก รูปคางสั้นสี่เหลี่ยม มือค่อนข้างใหญ่ ถักหมัหนาปึก และเต็มไปด้วยขดก้นหอย สวมประเจียด (ผ้ายันต์สีขาว) ตามแบบฉบับนิยมของมวยไชยา ซึ่งเก่าคร่ำเพราะใช้การมาแล้วหลายขวบปี ที่โคนแขนซ้ายขวาคาดผ้ายันต์และแขวนพิรอด(หวายจารึกอักขระขอมลงรักปิดทอง เป็นเครื่องรางประเภทอยู่ยง) รอบบั้นเอวยังมีพิสมรชนิดโทน(ดอกเดียว) และชนิดเครื่อง (มีดอกนำและดอกบริวาร ตั้งแต่ ๒-๑๓ ดอก อย่างของหลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง) รวม ๓-๔ สาย แป้งมนต์หรือกระแจะจันทน์ก็ประเอาไว้ขาวเต็มหน้า ดูๆ คล้ายกับคนป่าในทวีปแอฟริกากำลังจะออกรบ

เริ่มลงมือ
เมื่อเจ้าเมืองชุมพร พระสำเริงนฤปกรณ์ ได้ปราศรัยตามประเพณีคือพูดทำนองปรับความเข้าใจระหว่างนักมวยอันเป็นกติกา ครั้นแล้วเสร็จ นักมวยพม่าก็ยกมือขึ้นไหว้เจ้าเมือง ถอยห่างออกมา เริ่มร่ายรำ โดยเหยียดตัวสูง เนื้อเต้นยิบๆ กลองสองใบ ตีขัดจังหวะ ติ่งทั๋ง เร้าใจและอารมณ์อย่างระทึก มวยพม่าเหยียดตัวสูง แล้วลดกายลงต่ำเรียๆดิน วาดศอกผ่านชายโครงพลิกไปมา ดีดแข้งขาทำท่าแปลกน่าดูไม่น้อย

ส่วนมวยอินทร์ นั่งยองๆท่องคาถา ผินหน้าไปทางทิศบูรพาอันเป็นทิศครู แล้วกราบลา สามครั้ง ถอยออกมา ๓-๔ ก้าว ยืนประจันหน้าคู่ชก พิจารณาการร่ายรำของมวยพม่าอยู่ชั่วครู่ ทำปากขมุบขมิบ คนดูเงียบกริบได้ยินแต่เสียงกลอง ครั้นแล้วมวยอินทร์ก็เริ่มยกหมัดครู คือ ยกหมัดซ้ายขวาพร้อมกันขึ้นที่หน้าผาก ขยับสับท่า ก้าวสามขุมข้าๆ เข้าหาคู่ชกประมาณ หนึ่งนาที ไม่มีก้าวถอยหลัง ไม่มีการฉากออกข้าง ไม่มีการหลอกล่อ

มวยหม่อง ดูเหมือนจะแปลกใจ แต่ไม่แสดงอาการสะทกสะท้านต่อมวยไทย ขยับเข้าหา หดตีนขวาถีบทันที มวยอินทร์เตรียมตัวอยู่แล้ว เกร็งแขนรับแล้วปัดตาม ทำให้ตีนมวยพม่าพลาดเป้าหมายไปทางขวา
ชั่วพริบตาที่มวยพม่าเสียหลัก ฝุ่นจากพื้นสนามหญ้าซึ่งไม่สู้จะเขียวงามนักเพราะเป็นหน้าแล้ง ก็ฟุ้งขึ้นกลบคู่ต่อสู้
สองเสือต่างฟัดกันแทบไม่รู้ว่ามือตีนหมัดเข่าของใคร หมัดเท้าเข่าศอกระดมตอกซึ่งกันและกัน พึ่บพั่บ พึ่บพั่บ คล้ายค้างคาวแม่ไก่ตีช่อชมพู่
คนดูต่างโห่ร้อง ตามประเพณพื้นเมือง กรรมการซึ่งประกอบด้วยตำรวจ หกคน บางคนยืนกอดอกตัวเอียงไปมาตามลีลาความตื่นเต้น บางคนกำหวายสำหรับหวดตีนมวยที่ใช้ปากกัน หรือ ซ้ำคนล้ม เกร็งข้าเขี่ยดินโดยลืมตัว

การเข้าคลุกของมวยดีทั้งสองเป็นไปเพียงพักหนึ่งกระทั่งคู่ต่อสู้ต่างแยกออกจากกันเอง ปรากฏว่า มวยอินทร์ถอยห่างออกมายืนคุมเชิงท้องแขม่วๆ มวยพม่ามีเลือดไหลทะลักกลบใต้ตา ย่อตัวลงนั่งอย่างมึนงง แล้ว “เปิดมือ” คือโบกหลังมือให้ปฏิปักษ์ออกห่าง ซึ่งเป็นกริยามีความหมายรู้กันทั่วไปในสมัยก่อน ว่าขอหยุดพัก และเมื่อได้เข้าไปปรึกษาพี่เลี้ยงแล้ว กลับออกมาทั้งๆที่เลือดยังไหลไม่หยุด นักมวยพม่าก็เดินตรงเข้าไปหา เจ้าเมืองผู้เป็นประธาน บอกยอมแพ้มวยไทย ตามความตกลงใจของพี่เลี้ยง
ประชาชนยังไม่จุใจ ต่างบ่นพึมพำไม่ได้ศัพท์ แต่ไม่มีการขว้างปาไม่ว่าด้วยของแข็งหรือของอ่อน นับว่ามีวัฒนธรรมแบบไทยๆ
มวยอินทร์ได้รับรางวัลเงินเหรียญบาทจากพานเงินเป็นรางวัล ๑ ตำลึงซึ่งอาจใช้ชำระรัชชูปการในจังหวัดชุมพรได้ประมาณ สองปี มวยพม่าได้รางวัลลดหย่อนลงมา คือเพียง สามบาท

นั่นคือลำดับเหตุการณ์ในอดีตอันเเสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันของมวยไชยา มวยเอกของหัวเมืองปักษ์ใต้ ซึ่งเคยมี เคยอยู่ในเมืองชุมพร ทั้งยังเกี่ยวเนื่องกับ สถานที่และ บุคคลสำคัญในเมืองชุมพรอย่างเด่นชัด แต่คนชุมพรน้อยคนนักที่จะรู้ถึงความข้อนี้

ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้เรียบเรียงเอาจากคำบอกเล่าของครูแปรง ณปภพ ประมวญ และยกเอาบทความบางส่วนจาก หนังสือปริทัศน์มวยไทย ซึ่ง ครูเขตร ศรียาภัย เป็นผู้เขียนมาประกอบไว้เพื่อให้ความกระจ่างในความสัมพันธ์ของมวยไชยาที่ข้าพเจ้ารัก และ เมืองชุมพรอันเป็น บ้านเกิดของข้าพเจ้า นายชนุภณ ยอดสมัย (นักเรียนโรงเรียนศรียาภัย ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๕- ๒๕๔๐)บันทึก ณ โรงฝึกมวยไทยไชยา บ้านครูแปรง สาขาภูเก็ต เมื่อ วันเสาร์ ที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

วันเสาร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

Fire Thai sword by Mr. Chanuphon Yodsamai (muaychaiya)







การฝึกควงดาบไฟ โดยใช้การกลิ้งม้วนฟัน แบบสายดาบไทย บ้านครูแปรง เป็นชุดฝึก หนุมานคลุกฝุ่น แต่ ชุดนี้ เป็นการฝึกซ้อม เล่นๆครับ

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

ความแตกต่างของท่าไม้กล ทุ่ม ทับ จับ หัก ของมวยไชยาสายครูแปรง กับ มวยสายจับอื่นๆ ในสายตาของข้าพเจ้า (เมื่อ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓)

ความแตกต่างของท่าไม้กล ทุ่ม ทับ จับ หัก ของมวยไชยาสายครูแปรง กับ มวยสายจับอื่นๆ ในสายตาของข้าพเจ้า (เมื่อ วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๕๓)

อนึ่งในการเรียนหลักสูตร ทุ่ม ทับ จับ หัก นั้น ข้าพเจ้าเองก็มิได้เรียนมาอย่างครบถ้วน เพียงแต่ฝึกหัดมาจากท่าพื้นฐาน ที่ครูแปรงท่านสอนให้ แล้ว หมั่นฝึกฝน โดยอาศัยท่าพื้นฐานของมวยไชยา และ จากไม้กล จับหัก ที่ครูแปรงท่านได้สาธิตให้ดู แล้วนำมาปรับใช้เองตามสถานการ์ณ


จากที่ได้มีโอกาส แม้จะน้อยนิดก็ตาม ได้พบปะพูดคุยกับผู้รู้ในสายวิชาจับหัก แบบ ยูโด หรือ ยิวยิสสุ รวมถึงได้ประลองฝีมือ กับสายวิชา จับล็อกมาบ้าง ข้าพเจ้าพอจะอนุมานได้ว่า ในสายวิชาจับล๊อกนั้นเขามักใช้ร่างกาย หรือ กล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่ เข้าจัดการกับ ข้อต่อส่วนน้อย โดยใช้การยืดตัว พับหัก หรือ กด รวมทั้งใช้การกอดรัดให้แน่น ส่งผลให้คู่ต่อสู้ อึดอัด หรือ หมดสติ หรือ ต้องพิการจากการถูกบิดหัก ข้อต่อ ตามแบบ หลักสูตรวิชาซึ่งมักเป็นแรง กด บิด ดึง งัดของกล้ามเนื้อ เพื่อให้หัก ของ แต่ละสายวิชา และการเริ่มต้น ในการต่อสู้คือการเริ่มประชิดตัว เช่น จับแขน หรือ ขา คู่ต่อสู้ ทำให้ล้ม แล้ว ค่อยใช้วิชา จับหักต่อไป ซึ่งถือเป็นศาสตร์การต่อสู้ที่ยอดเยี่ยมมากๆ


แต่ในสายมวยไชยาในสายครูแปรงนั้น เราใช้วิถีแห่งวัฒนธรรมไทย การยืน การเดิน การนั่ง ตามแบบฉบับของคนไทยโบราณ มาปรับใช้กับการต่อสู้แบบคลุกวงใน โดยนำเอาการเดินเข่า คลานเข่า การย่างถวายบังคมด้วยเข่า เอาท่าร่ายรำจากท่าไหว้ครูมวย ครูดาบ ครูอาวุธ เอาวัฒนธรรมอันสวยงาม คือ การไหว้ และ นำเอาท่าพื้นฐานของมวยไชยาทั้งหมด รวมทั้งท่าย่างสามขุม การฟังแรง ถ่ายแรง ผ่อนตาม มาปรับใช้กับการจับหัก เพียงแต่ผู้ฝึกจักต้องรู้จักถึงองคาพยพน้อยใหญ่ในร่างกายของเราเสียก่อน ว่าส่วนใดอ่อนอันควรปกปิดหลีกเลี่ยงจากการปะทะ ส่วนใดแข็งพอที่จะใช้เป็นอาวุธ แล้ว นำมาใช้ให้ถูกส่วน ซึ่งในสายวิชามวยไชยาสายนี้ เรียกว่า กายวุธ คือทุกส่วนของร่างกายที่ใช้เป็นอาวุธได้ ไม่ใช่เฉพาะแต่เพียง อาวุธหลัก เช่น หมัด เท้า เข่า ศอก เพียง ๔ อย่าง ๘ อาวุธเท่านั้น อาวุธ ใน กายวุธ ยังรวมตลอดถึง ส่วนแข็งของร่างกายอื่นๆอีกเช่น กระดูกข้อมือด้านนอก ที่เราเรียกว่าตานกเอี้ยง กระดูกตาตุ่มด้านนอก กระดูกท่อนแขน กระดูกหน้าแข้ง กระดูกข้อมือด้านใน ข้อสันหมัดแบบหงายหรือคว่ำ แม้แต่คางของเรา ก็ยังสามารถใช้ได้เพียงแต่ต้องใช้ให้ถูกที่เท่านั้น และยังหมายความตลอดถึง การใช้ บานพับ ที่พับเข่า พับศอก และการใช้กล้ามเนื้อส่วนที่โตกว่าเพื่อยึดจับอวัยวะของคู่ต่อสู้อีกด้วย นอกจากจะใช้ แรง กด บิด ดึง งัดของกล้ามเนื้อแล้ว ยังใช้แรงตัด เชือดด้วยข้อกระดูกอีกด้วย


เมื่อเรารู้จักใช้การย่างสามขุมบวกกับการใช้กายวุธแล้ว การจับหัก ยังมีทั้งแบบการจับเพื่อควบคุม คือการจับกุม ให้คู่ต่อสู้ยอมจำนนเมื่อเห็นว่าหมดทางสู้แล้ว หรือ บิดพลิกหักในทันที เมื่อเข้าไม้กล โดยไม่เน้นการจับกุมให้หยุดอยู่กับที่ เพราะอาจเป็นการเสียเวลาหากมี คู่ต่อสู้มากกว่าหนึ่ง

ข้อแตกต่างจากการสังเกตุของข้าพเจ้าอีกประการหนึ่งนั้นพบว่าในสายวิชาจับล๊อคอื่น อาจจะเป็นด้วยรูปแบบการแข่งขันก็เป็นได้ ที่ทำให้มิติในการต่อสู้ถูกจำกัดให้อยู่ในรูปแบบ หนึ่งต่อหนึ่ง คือ หากเน้นการนอนสู้กันตัวต่อตัวแล้ว จึงไม่ต้องคำนึงถึงว่าจะมีคนอื่นเข้ามารุมทำร้ายด้วยหรือไม่ เพราะเห็นได้จากท่านอนสู้ของสายวิชาอื่นหลายๆท่าที่ ผู้จับ นอนจับคู่ต่อสู้แล้วเหยียดตัว หรือ นอนทับคู่ต่อสู้เพื่อหัก แขน หรือ ขา คู่ต่อสู้ การนอนสู้เช่นนั้นเป็นผลดีในการสู้ตัวต่อตัว เพราะ สามารถใช้น้ำหนักตัว บวกกับ แรงกล้ามเนื้อส่วนใหญ่ยึดตรึงคู่ต่อสู้ได้ดี แต่คงใช้ไม่ทันการหาก คู่ต่อสู้มีมากกว่าหนึ่งคน เพราะหากมัวนอนคลุกอยู่กับอีกคนหนึ่ง ก็อาจถูกอีกคนหนึ่ง ลอบเข้าโจมตีทางด้านหลังหรือ มุมอับได้ง่าย ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่าสายวิชาจับล็อคของชาติอื่นๆที่คงอยู่รักษาบ้านเมืองของเขามาได้นับพันปีเช่นนี้คงจะมีกลวิธี รับมือจาก กรณีเช่นนี้เป็นแน่ เพียงแต่ข้าพเจ้ายังไม่รู้ว่าเขามีเท่านั้น


ในกลจับหัก ของครูแปรงจากที่ข้าพเจ้าศึกษานั้นพบว่า ครูแปรงท่านจะเน้นการนั่งคลุก แบบท่านั่งถวายบังคม หรือ คลานเข่า อยู่บนตัวคู่ต่อสู้ มากกว่าที่จะนอนราบไปกับคู่ต่อสู้ เพื่อเป็นการทิ้งน้ำหนักตัวลงกดทับตัวคู่ต่อสู้ และนอกจากนี้เมื่ออยู่ในรูปการนั่งชันเข่าแล้วการเคลื่อนที่หมุนวน หลบหลีกหากมีการจู่โจมจาก ผู้อื่นเพิ่มเติมก็จะ รับมือได้ง่ายกว่า การนอนสู้อยู่กับคนคนเดียว ทำให้มิติในการต่อสู้ไม่ถูกจำกัดอยู่ในแบบหนึ่งต่อหนึ่ง และอาจใช้ในสถานการณ์จริงที่เราไม่สามารถจะทราบได้ว่าคู่ต่อสู้มีกีคนได้ดีกว่า


และด้วยความที่มวยไชยา เป็นมวยไทยขนานเดิมที่มีอาวุธหลักอยู่ครบถ้วน จึงยังสามารถ ใช้หมัด เท้า เข่า ศอก ได้ดีในการ ป้องกันตัว หรือ โจมตีคู่ต่อสู้ การใช้ไม้กลทุ่มทับจับหัก จึงมักเป็น กล จากการแก้อาวุธศัตรู เช่น ไม้กลขุนยักษ์จับลิง ใช้ แก้หมัดตรง ไม้กลฟาดกุมภรรณใช้แก้ เตะ ไม้กลรัดงวงแทงงาใช้แก้เตะ ไม้กลช้างสบัดหญ้าใช้แก้หมัดตรง ไม้กลขุนฆ้อนตีทั่งใช้แกเตะ ไม้กลนาคคู้บัลลังค์ใช้แก้หมัดตรง ไม้กลหงส์ปีกหัก ใช้แก้หมัดตรง เป็นต้น ซึ่งท่าที่กล่าวแล้วนั้นเป็นกลจับหักทั้งสิ้น จึงไม่ต้องทนแลกแข้ง แลกหมัด เสี่ยงดวงเข้าเพื่อจับหักแต่อย่างใด หากปฏิปักษ์ ไม่ถลำมาจนประชิดตัว ก็ใช้ไม้สั้น ไม้ยาว ตามแต่จะถนัดได้ แต่หากพัลวันกันจนถึงกับต้องกอดรัด ก็ยังใช้กล คลุกปล้ำจับหัก แก้ไขได้ในทันที



ทั้งนี้ข้าพเจ้า นายชนุภณ ยอดสมัย (โช) ได้แสดงความคิดเห็นตามภูมิปัญญาที่ข้าพเจ้าเข้าใจเท่านั้นหากมีข้อผิดพลาดแต่ประการใด ข้าพเจ้าขอรับไว้แต่ผู้เดียวครับ

History MuaythaiChaiya Thai weapons Grapling smashing trowing

วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

MuayBoran Training

MuayBoran Training (Traditional Thai Boxing Training)




For many, the words ‘Muay Thai’ would bring to mind images of heavy training sessions, often tough and bruising. To a certain extent this can be true, but only of those training with the ultimate aim of fighting in conventional Muay Thai tournaments, to make a living under the rules of boxing as a sport.



On the contrary, traditional Mauy Thai does not aim to defeat with the use of sheer physical strength alone, but is to defend before the right moment to retaliate as trained. That is, a traditional Muay Thai boxer is one who practices martial art as taught by his teacher. From my experience as a traditional Muay Thai, Chaiya-style student, training tends to start from a slower pace before increasing in both speed and intensity.




The initial training will start with adjustments to get a firm and stable standby position, ready to defend and attack. Next are training the various techniques to defend and receive attacks so that these are effective before moving on to attack techniques. Both the defensive and offensive techniques makes full use of the human body parts and positions from the knees, elbows to the shoulder blades and the Thai ‘Wai’. All these training have to proceed from the easier techniques, light and slower paced before increasing in speed and intensity.



Traditional Chaiya-style Thai Boxing gives weight to the use of art as a form of self defense rather than the use of strength to attack. This style enables the student to truly understand to anticipate and receive attacks to withstand the least damage or non at all. However this can only be achieved through correct and constant training.

วันจันทร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553

การแก้ไขเมื่อ ถูกจี้ปาดคอจากด้านหลังเมื่อเป็นตัวประกัน


การป้องกันตัวมือเปล่า เมื่อถูกจี้ปาดคอจากด้านหลัง


จากข่าวที่พบเห็นได้อยู่บ่อยๆ กับกรณี คนร้าย เสพยาเสพติด (เมทแอมแฟตตามีน) แล้วเกิดคลุ้มคลั่งจับเด็กหรือสตรีเป็นตัวประกัน ในกรณีเช่นนี้หากเป็นท่านจะทำเช่นไร ทางที่ดีควร ให้ในสิ่งที่เขาต้องการ และชลอความตึงเครียดของคนร้ายมิให้ลงมือกับท่านเร็วนัก เพื่อรอความช่วยเหลือ จากเจ้าหน้าที่หรือบุคคลข้างเคียง แต่หากไม่มีบุคคลเช่นว่านั้นหละ


วิธีการง่ายๆ ก็คือ ใช้การ เกาะที่ข้อมือที่เขาถือมีด ระวังคมมีดด้วยนะ แล้วดึงลงมาที่หน้าอกของเราแล้วยึดกด ให้มือเขาติดกับอกเราอย่าให้เขาขยับมีดได้ ย่อขาเราลงทิ้งน้ำหนักตัวของเราทั้งหมดลง ให้เขาใช้แขนทีมีอาวุธมีดนั้น รั้งน้ำหนักตัวเราไว้ เพียงเท่านี้ก็จะสามารถทำให้มีดของเขาห่างออกจากลำคอของเราได้สักระยะหนึ่งซึ่งนั่นก็เป็นการเพียงพอที่จะ เป็นโอกาสให้ แก่เจ้าหน้าที่ในการเข้าชาร์ต เพื่อช่วยเหลือ เพราะทางเจ้าหน้าที่เขาก็รอคอยโอกาสที่อาวุธห่างจากคอของเหยื่อเช่นกัน


และหากผู้เสียหาย ได้มีการฝึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการอ่านแรงฟังแรง เกาะเกี่ยวติดพัน ก็จะสามารถพลิกเหลี่ยมบิดไหล่ไปทางด้านหลังใช้มีดที่เขาจี้คอเรา วกกลับเข้าแทงตัวคนร้ายได้ไม่ยากนัก ในกรณีที่เห็นว่าไม่มีเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือ ก็สามารถแก้ไขสถานการณ์ด้วยตนเองได้



แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนสักนิด เพื่อหาจังหวะจริง ในการแก้ไข ควรจะมีเพื่อนคู่ฝึก จนมั่นใจได้ว่า เมื่อกระตุกมือเขาลงมาแล้ว เขาไม่สามารถจะเชือดคอเราได้จริง ด้วยการจำลองเสมือนจริง จึงจะถือว่า ผ่านการฝึกนี้ และมีความมั่นใจที่จะใช้ในภาวะฉุกเฉิน


วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ความฝันที่เป็นจริงของข้าพเจ้า

20 ส.ค. 2551, 10:29 น.

ราวช่วง เดือน พฤษภาคม ได้ทราบข่าวการรับสมัคร นักสู้ เข้าร่วมการแข่งขัน kof (mma) ครั้งแรก ในประเทศไทย ผมได้เห็นแล้ว ก็ดีใจมากรีบสมัครเข้าร่วมทันที เพราะ เคยฝึกมวยไชยาอยู่ 2 ปี ไม่เคยได้ต่อยกับใครจริงๆ เลยสักครั้ง แม้ปัจจุบัน จะมารับราชการเป็นนิติกรระดับ 4 ห่างหายการฝึกไปกว่า 3 ปี แล้วก็ตาม เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำตามความฝันสักครั้ง แม้ร่างกายก็ไม่สมบูรณ์จากการถูกรถชนเมื่อ 2 ปีก่อน ขาไม่ค่อยดี แถมเป็นหวัด ซึมๆ อยู่ เป็นเดือนก่อนแข่ง แถมยังต้องลดน้ำหนักอีก 4 กิโลกว่า แต่ช่างมันเถอะ ถ้าไม่สู้ตอนนี้ ก็คงจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว

28 /6/51

แข่งรอบแรกรุ่น -55 กิโล กับ blink คาราเต้ฟูลคอนแท็คสายดำ จาก ไทยญี่ปุ่นดินแดง
แมตนี้เป็นแมตแรกในชีวิตบนสังเวียนผืนผ้าใบ ที่เวที มวยอัศวินดำ รามอินทรา ติ่นสนามมากๆ ขนาดเดินเข้ามุมผิด และจำมุมของตัวเองไม่ได้ว่า มุมน้ำเงิน หรือมุมแดง คู่ต่อสู้ คือ คุณ blink แข็งแรง ดุดันมาก มีอาวุธ คือ หมัด และ เตะได้รวดเร็ว แถมอึดอีกต่างหาก ได้ความตอนหลังว่า เขาวิ่งวันละ 20 รอบ แหนะ แต่ก็อาศัย ไม้เด็ด มุดบาดาล ลอดแข้ง ตามด้วยเหวี่ยงหมัด ตาม จึงเอาตัวรอด ชนะคะแนนมาได้

16/8/51
แข่งรอบรองชนะเลิศ รุ่น -55 กิโล กับ อาจารย์ วัชระ รังษีสุริยันต์ ผู้ฝึกสอนยูโด-มวยปล้ำ จาก นครปฐม ซึ่งเป็นเต็งแชมป์รุ่นนี้ ต่อยครั้งที่ 2 ในชีวิต ต้องมาเจอ กับกระดูกชิ้นใหญ่ซะแล้ว คราวนี้ ผมได้ครูแปรงช่วยสอน จับหัก ให้ 3 วัน ก็ได้ฝักราวๆ 3-4 ชั่วโมงครับก่อนแข่งเอาซะหน่อย และเคาะสนิมที่ห่างการฝึกไปนาน ทำให้เอาตัวรอดจากการถูกจับหักของ อ.วัชระ ไปได้ แต่ก็ไม่วายแพ้คะแนนจนได้ ได้คว้าเหรียญทองแดง มาคล้องคอแทน แล้วอ.วัชระ ก็ได้แชมป์ไปครองตามคาด เสียดาย ผม เกือบ จะได้เข็มขัดอยู่แล้วเชียว นิดเดียวแท้ๆ ไว้คราวหน้า ถ้ามาได้ ผมจะมาแข่งอีกครับ

และ แมตที่ประทับใจที่สุด ก็ แมตที่แข่งกับ อ.วัชระ นี่แหละครับ เหนื่อย หอบ ลุ้น มันส์ มากๆ ครับ

แต่ลองของแล้ว มวยไชยาเราใช้ได้แน่นอนครับ แต่อยู่ที่คนใช้ด้วยว่าจะ ทำได้ตามคำครูที่สอนให้ได้แค่ไหน งานนี้ ดีที่ยังไม่พลาดจังๆ แต่ล้า และเจ็บกล้ามเนื้อจากการซ้อมล่อเป้า ครั้งแรกในชีวิต กับพี่พงษ์ วันเดียว เอง จับหักกับเจ้าเอิร์ธ พี่โอ๋ ซะระบมอยู่เหมือนกัน

งานนี้จริงๆแล้วผมก็มีความกดดันมากอยู่เหมือนกันเพราะ ตอนมารอบแรก ก็คิดว่าจะได้ทำตามความฝันสักครั้ง คิดว่าคงไม่เป็นไร คงไม่มีใครรุ้หรอกน่า เลยแอบลงแข่งเองโดยไม่ได้ขออนุญาติจากครูแปรง ก่อน แถมไม่ได้ซ้อมตามที่ครูเเปรงท่านเคยให้ ตารางซ้อมไว้ให้ด้วย เนื่องจากติดขัดเรื่องเวลาทำงานหลวงอยู่ พอเจอหน้าครู ก่อนแข่ง ผม ก็ ทำหน้าไม่ถูกอยู่เหมือนกันครับ จุดใต้ตำตออย่างจัง งานนั้ผู้จัด เขาเชิญครูแปรง ให้มาสาธิต อาวุธไทยในงานด้วย แถม พี่โอ๋ (สมิงวายุ) ยังลงแข่งอีก ก็เลย งานเข้าครับพี่น้อง

ดีที่รอบรองชนะเลิศ แพ้แบบสูสี แถมคู่แข่งยังเป็นระดับแชป์อีกด้วย เลย รอดตัวไป ไม่งั้น โดนเชือด แหง่มๆ

การเริ่มฝึก มวยไทยของข้าพเจ้า

การริเริ่มฝึกมวยไทยของผม

20 ส.ค. 2551, 14:18 น. อนึ่งด้วยความเป็นลูกไทย คนหนึ่ง ผมชื่นชอบ วิชา มวยไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องด้วยพ่อ อาจารย์ วิศิษฐ์ ยอดสมัย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองส้ม ท่านเคยเป็นนักมวยเก่า (พรศักดิ์ น้อย ศ.ท่ายาง) ต่อยมวยส่งตัวเองจนเรียนจบวิทยาลัยครูเพชรบุรี ทั้งยังได้สร้างสม สอนวิธี ชกต่อย เตะ กระสอบ และ เชิงการชกต่อยเบื้องต้นให้ แต่ด้วย อะไรหลายๆอย่างจึงทำให้ไม่ได้ฝึกอย่างจริงๆจังนัก ไปเน้นการแข่งขัน กรีฑา ระยะสั้น ให้กับโรงเรียน ศรียาภัย เสียมากกว่า เมื่อ ขึ้นกรุงเทพ เรียน นิติศาสตร์ จนจบที่ราม ในขณะไปเรียนเน เมื่อ ราวๆต้นปี 47 ได้เข้าไปอ่านหนังสือ สยามคอมแบต ที่โลตัส อ่อนนุช เห็นเขาลงเกี่ยวกับ วิชา มวยไทยไชยา จึงเกิดสนใจไปเรียน ที่สยามยุทธ์ ยิม จึงนับเป็นครั้งแรกที่ได้พบครูแปรง และ พี่พงษ์ หลังจากนั้น งบหมด ประกอบกับ พี่พงษ์บอกว่า เป็นเด็กรามก็ไปเรียนที่ ad1 ได้ ผมก็ไปเรียน ที่ราม ซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า เป็นรุ่นสุดท้ายที่ พี่พงษ์ สอนให้ที่ราม

ฝึกที่รามอยู่ราว 6 เดือน ก็ได้โอกาสเข้าไปทำป้ายมูลนิธิที่บ้านครูแปรง ทำป้ายอยู่ 1 เดือน ก็เสร้จ ทีนี้ก็อาศัยความคุ้นเคยว่าเข้าไปให้ครูเห็นหน้าบ่อย ขอเข้าไปฝึกที่บ้านครู ครูท่านอนุญาติ จึงได้เข้าไปฝึกที่บ้านครู เรื่อยมา จนมาสอบบรรจุติดเป็นนิติกร ได้เริ่มทำงาน เมื่อ 1 มีนาคม 2549 รวมเวลาที่ได้ฝึกกับครูแปรง ร่วม 2 ปี แต่ก็ไม่ได้ฝึกทุกวัน ยังคงมีวันลากลับบ้าน วันหยุดต่างๆ อีกมากมาย ก็คงตก ได้ว่า ฝึกอยู่ วันละ 2-3 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 3-4 วัน

ครูแปรงเคยบอกว่า ถ้าเข้ามาฝึกแบบที่ผมทำอยู่ ก็คงฝึกสัก 4-5 ปี ก็คงจะพอเป็นรูปเป็นร่างของมวยไชยาเดิมๆได้ ถ้าได้แล้ว จะได้นำกลับคืนถิ่น ท่าตะเภา อันเป็นตำบลที่ผมเกิดซิ่งเป็นที่เดียวกับครูเขตร ศรียาภัย ครูอินทร์ ศักดิ์เดช ปรมาจารย์ มวยไทย ท่านก็เกิดที่ตำบลหนองช้างตาย หรือตำบลท่าตะเภานีแหละครับ เพราะที่ชุมพร หามวยไชยาได้ยากเต็มทีแล้ว

ผมก็จะพยายามฝึกให้มากที่สุด แต่มาได้เต็มที่แค่ 2 ปี ยังได้ไม่ถึงคริ่งของหลักสูตรเลยครับ หลักสูตรสำคัญ อย่าง ทุ่ม ทับ จับ หัก ปีน ป่าย เหยียบ ยัน ประกบ ประกับ จับ รั้ง เข้าข้างหลัง ดัดก้านคอ ไม้เด็ดๆซึ่งตัวผมเองก็ยังไม่ได้เรียนเลยสักกะเเอะ ถ้ามีเวลาจะมาฝึกเพิ่มจากครูแปรงให้ได้ อย่างน้อยๆ ก็ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และผมยังถือคำครูท่านที่ว่า พูดได้ทำได้ จึงจะเป็นครูเขาลูกเอ๋ย คือถ้าผมทำได้ไม่ดี ทำให้ใช้การยังไม่ได้ ผมก็คงจะไม่คิดแนะนำใครแน่ๆครับ ผมจะทำให้ดีที่สุด เพื่อ ที่จะได้ทำได้ แล้วไปสอนลูกชาย ผม เจ้า นโม หรือ ลูกหลาน คนชุมพร ต่อไป

ผมเรียนชั้น ม.1 – ม.6 ที่ โรงเรียนศรียาภัย ซึ่ง ย่าชื่น ศรียาภัย พี่สาวของครูเขตร เป็นผู้ก่อตั้ง สถานที่ที่ครูเขตรกล่าวถึงในหนังสือของท่าน ผมได้ผ่านไปมาอยู๋แทบทุกวัน ความรักสถาบัน ถิ่นฐานบ้านเกิด ยิ่งทำให้ ขนลุกซู่ขึ้นมาทันทีที่นึกถึง มาเป็นอีกแรงใจที่ผมจะอนุรักษ์ วิชามวยไทยสายใชยาไว้ให้ดีที่สุดเท่าที่กำลังของผมจะทำได้

เป้าหมายในการฝึกมวยไทยไชยาของข้าพเจ้า

เป้าหมายในการฝึกมวยไทยไชยาของข้าพเจ้า

๑ เพื่อเป็นการอนุรักษ์วิชาของไทย ให้คงอยู่คู่กับคนไทย ชาติไทย

๒ เพื่อเป็นการสร้างเสริมสมรรถภาพของร่างกาย ให้แข็งแรง เป็นการออกกำลังกายที่ดี

๓ เพื่อใช้ป้องกันตัวในยามคับขัน หรือ ภาวะฉุกเฉิน

การฝึกมวยไทยไชยานั้น ผู้ฝึกตั้งเป้าหมาย ไว้ตามลำดับข้างต้น เนื่องจากข้าพเจ้า ได้ค้นหา ตามสืบมาเนิ่นนาน กว่าจะมาค้นพบวิชามวยไทยไชยานี้ เมื่อได้พบก็ทราบว่า มวยไทยไชยา เป็นมวยไทย สายหนึ่ง ที่มีมานานแล้ว แต่นับวันจะหาคนรู้จัก และใช้การได้มีน้อยมาก หากไม่ช่วยกันรักษาไว้ก็คงจะสูญหายไปตามกาลเวลา เช่น มวยไทยสายอื่นๆ ซึ่ง บางสายไม่อาจตามสืบพบถึง ตัวตนที่คงอยู่ได้ เมื่อเราตั้งใจที่จะรักษาอนุรักษ์ไว้ให้คนไทย รุ่นหลัง ก็มีเป้าหมายที่จะต้องทำให้ได้ ทำให้ดี ในระดับที่ กำลังกาย กำลังใจของข้าพเจ้าจะพาไปได้

เมื่อข้าพเจ้าได้ตั้งใจเพียรศึกษาในวิชาแขนงนี้ นอกจากจะได้รับการฝึกเพื่ออนุรักษ์สายวิชานี้ไว้ ยังมีผลพลอยได้จากการเรียน คือ ได้ออกกำลังกายในรูปแบบ ของมวยไทยไชยา ซึ่งเป็นการออกกำลังกาย โดยใช้น้ำหนัก ตัวของผู้ฝึก การหาจังหวะ การจัดระเบียบร่างกาย การทรงตัว และตลอดถึงการฝึกสติ ให้มีความจดจ่ออยู่กับท่าที่ฝึกนั้นด้วย

และเมื่อตั้งใจฝึกเพื่ออนุรักษ์ อย่างตั้งใจ โดยควบคู่ไปกับการออกกำลังกายในท่ามวย ไปสักระยะหนึ่ง เมื่อเกิดความชำนาญ ร่างกายจดจำท่วงท่า จนเกิดเป็นสัญชาติญาณ การเคลื่อนที่ของร่างกาย ก็จะเกิดความคล่องตัวขึ้นในระดับหนึ่ง จนสามารถ ใช้ป้องกันตัวได้ เมื่อถึงคราวจำเป็น

นั่นก็คือ ถ้าตั้งใจฝึกอย่างจริงจัง จนเข้าใจหลักการของวิชา เข้าใจเคล็ดวิชาในระดับหนึ่ง ก็เพียงพอที่จะใช้ป้องกันตัว ให้สมกับที่เป็นลูกไทยได้

ความแตกต่างของมวยไทยไชยากับมวยไทยในยุคปัจจุบัน

ความแตกต่างของมวยไชยากับมวยไทยในยุคปัจจุบัน ตอน ๑

๑. ที่เห็นได้เด่นชัด คือ การยืนจดมวย ในมวยไชยาจะ ใช้วิธีการยืนย่อขาลง เพื่อเตรียมพร้อมออกอาวุธ มือสองข้าง จดมวยไว้ในแนวกลางตัว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อ ป้องกันจุดอันตรายที่เรียงรายอยู่ในแนวกลางตัว ตั้งแต่ จมูก ปาก คาง คอ หลุมหัวใจ (ลิ้นปี่) แต่ มวยไทยในปัจจุบันที่พบโดยมากจะยืนมวย สูงกว่าเล็กน้อย เพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนที่ และ จดมวยกว้างกว่า เข้าใจว่าเพื่อทัศนวิสัยในการมองเห็นที่ชัดเจน และ ป้องกันอาวุธหนัก เช่น การเตะ

๒. เมื่อออกอาวุธ โดยเฉพาะ การเตะ จะเห็นได้ชัดว่า ในสายมวยไชยานั้น เมื่อ เตะ แล้ว จะสบัดมือข้างที่เตะ ไปในทิศทางเดียวกันกับขาข้างที่เตะ เช่น เตะด้วยขาขวาของเราไปที่เป้าหมาย มือขวาก็จะสบัดไปตามทางขวาเช่นกัน แต่ ในมวยไทยปัจจุบัน จะใช้การสบัดแขนสวนกันกับขาข้างที่เตะ ซึ่งต่างก็ให้ผลลัพที่รุนแรงไม่แพ้กัน จะต่างก็แต่วิธีการเท่านั้น

มวยโบราณกับอาวุธไทยสัมพันธ์กันอย่างไร

ในการศึกแต่เดิมนั้น หากการรบประชิดตัวถึงตะลุมบอน หากอาวุธคู่กายหลุดมือไป เหล่าทหารก็จักต้องใช้ มือเปล่าเข้าต่อกรกับข้าศึก เพราะคงไม่มีข้าศึกใจดีให้โอกาสเราได้หาอาวุธใหม่เป็นแน่ จึงมีความจำเป็นอยู่เองที่ ลูกไทยผู้รักชาติ จักต้องร่ำเรียนทั้งวิชาการต่อสู้ภาคอาวุธ และ มือเปล่า ไว้เพื่อป้องกันผืนแผ่นดินอันเป็นที่รักยิ่ง

เคยมีผู้รู้ให้ทัศนะไว้ว่า หากนักมวย ได้อาวุธจะใช้อย่างไร ก็เคยแต่ต่อย ไม่เคยตี หากนักดาบ ขาด ดาบ จะทำอย่างไร ก็เคยแต่ใช้ดาบ ไม่ถนัดต่อย จากที่ข้าพเจ้าศึกษามานั้นพบว่า มัลละ (นักมวย) ผู้เชี่ยวชาญในเชิงมวย ใช้กลมวยเข้าต่อตี แล แก้ทาง ปรปักษ์อย่างใด ก็ใช้กลนั้น กับอาวุธเช่นนั้น นักดาบเองก็เช่นกัน มีกลดาบอย่างไร ก็มาใช้เมื่อครามือเปล่าเช่นกัน เพียงแต่ต้องปรับการใช้ให้เหมาะสมกับอาวุธในมือ ทั้งอาวุธมือถือ แล กายวุธ

นั่นก็หมายความว่า หากผู้ใดเชี่ยวชาญในการใช้ศิลปะการต่อสู้แบบใดแบบหนึ่ง ก็จะสามารถ ปรับใช้กับอาวุธประเภทอื่นได้ด้วย เนื่องจากรู้หลักการ ของการใช้อาวุธนั้น การถ่ายแรง การควบคุมอาวุธในมือ

จากประสบการณ์อันน้อยนิดของผู้เขียนนั้น พบว่าเมื่อได้รับการฝึกวิชาภาคอาวุธมาในระดับหนึ่ง แล้วกลับมาฝึกภาคมือเปล่าอีกครั้ง โดยลองฝึกเหมือนดังว่าในมือมีอาวุธ (ใช้มือเปล่า) ก็จะพบว่ามีมุมมองใหม่ๆ ในการต่อสู้ขึ้น จึงตระหนักถึงความสำคัญของภาควิชาอาวุธไทย ทั้งพลอง ดาบสองมือ ดาบเดี่ยว ตลอดจนถึง มีดสั้น เพราะนอกจากจะสามารถใช้อาวุธได้อย่างหลากหลายแล้ว ยังมีเคล็ดลับ และกลวิธีที่ซ่อนไว้ในตัวอีกมากมาย ที่รอให้ผู้มีปัญญามาแก้เอาไป เช่น การฝึกควงพลอง เพื่อควบคุมอาวุธ ฟังแรงพลอง อ่อนตาม ใช้แรงส่วนน้อยผสานกับการบิดเหลี่ยมพลิกตัว เพื่อ ให้พลองสามารถ หมุนหรือเคลื่อนที่ได้โดยไม่หยุดชะงัก และเพิ่มกำลังในการตี หรือ แทงได้ หากไร้ซึ่งพลองแล้ว นำมาปรับใช้กับการต่อสู้มือเปล่าได้ การใช้ท่ากลับหน้าพลอง นำมาใช้ในการหักแขนปรปักษ์ที่เราจับได้ หรือ การใช้ท่าควงพลองพื้นฐาน ท่าอัยราฟาดงวง ก็สามารถใช้ในการหักแขนผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาบีบคอเราได้

แม้จะเป็นในภาคอาวุธอื่น เช่น ดาบ การรับดาบแบบบัวคว่ำ หรือ บัวหงาย ก็ยังใช้แก้การต่อยหมัดตรง โดยปัดพร้อมพลิกตัวดึงคู่ต่อสู้ให้เสียหลัก แล้วหมุนตัวเล็กน้อยก็จะควบคุมตัวเขาได้โดยง่าย

เห็นได้ชัดว่าวิชามวยโบราณ และ อาวุธไทยโบราณ นั้นมีส่วนเกี่ยวข้อง ที่เกื้อหนุนกันเป็นอย่างมากการที่จะใช้กลมวยได้อย่างหลากหลายนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรู้ในกลวิธีของวิชาอาวุธด้วย เนื่องด้วยกลมวยจำนวนไม่น้อยได้ถูกซ่อนไว้ในกลดาบ แลกลดาบเองก็ถูกซ่อนไว้ในวิชาอาวุธอื่นๆอีก

การฝึกมวยโบราณ MuayBoran training

การฝึกมวยโบราณ

เมื่อพูดถึงการฝึกมวยไทย หลายๆท่านคงนึกภาพถึงการฝึกซ้อมที่หนักหน่วง มีการปะทะกันอย่างรุนแรง ถึงขั้นฟกช้ำ หรือ บาดเจ็บ ถึงเลือดตกยางออก ถือเป็นความจริงที่ปรากฏสู่สายตาชาวโลก แต่นั่นก็เป็นรูปแบบของการฝึกที่เข้มข้นเพื่อมุ่งให้ผลในการแข่งขัน เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพตามการแข่งขันในกติกาสมัยใหม่

หากแต่การฝึกมวยไทยในอดีตนั้น มิได้มุ่งเพื่อที่จะเอาชนะ โดยยอม แลกอาวุธจนร่างกายทรุดโทรม หรือแข่งกันทางด้านกำลังแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งไปเพื่อป้องกันตัวให้ดีเสียก่อนแล้วจึงหาจังหวะตอบโต้ตามแบบฉบับของครูผู้สอน อันว่านักมวยนั้น คือ ผู้ฝึกการชกต่อยตามแต่ครูจะสอน ในการฝึกมวยโบราณสายไชยาที่ผู้เขียนได้ศึกษาและทดลองด้วยตนเองนั้น การฝึกจะมีลักษณะ เป็นการฝึกจาก เบาไปหาหนัก จากช้า ไป หาเร็ว

โดยเมื่อแรก จะจัดโครงสร้างการยืนมวย เพื่อให้มีความมั่นคง และเตรียมพร้อมที่จะป้องกัน หรือโจมตี แล้วจึงฝึกการป้องกันอาวุธ(หมัด ) ในชุดป้องปัดปิดเปิด ก่อน เมื่อสามารถป้องกันตัวได้ดีแล้วจึงเข้าสู่การฝึกการออกอาวุธต่อไป อันมี หมัด ตรง หมัดเหวี่ยงสั้น หมัดเหวี่ยงยาว หมัดกระทุ้ง หมัดทิ่ม หมัดกระแทก หมัดโขก เตะฝานบวบ เข่าโทน เข่าลา เข่าลอย ศอกทัดมาลา จูบศอก มวยผม เป็นต้น

โดยผู้ฝึกจะต้องเริ่มฝึกจากท่าพื้นฐานเรียงลำดับจากง่ายไปหายาก เพื่อไม่ให้เกิดการบาดเจ็บ และเสียรูปมวย ต้องฝึกรับอาวุธจากเบาๆ ช้า ๆ ไปจนกว่าจะชำนาญ และเพิ่มความเร็ว ความแรง จนสามารถรับ หมัด รับแข้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสามารถฝึกขั้นพื้นฐานได้อย่างคล่องแคล่ว แล้วก็จะเข้าสู้ หลักสูตรขั้นสูง เช่น การปีนป่าย เหยียบยัน ทุ่ม ทับ จับ หัก ต่อไป

ซึ่งในการฝึกที่ผู้เขียนพบมานั้นไม่ปรากฎว่ามีผู้เรียนท่านใดต้องบาดเจ็บจากการฝึกเลย เพราะรูปแบบของการฝึกมิได้ ใช้กำลังเข้าปะทะตั้งแต่ต้น แต่ใช้ศิลปะ ในการป้องกัน ให้ผู้ฝึกได้รู้ถึงมุมของอาวุธที่เข้าโจมตี และวิธีป้องกันให้เกิดความเสียหายให้น้อยที่สุด หรือไม่เกิดความเสียหายเลย แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกที่ถูกต้องและสม่ำเสมอจึงจะสามารถรับและป้องกันอาวุธได้อย่างคล่องแคล่ว